ธ.ก.ส.จ่อพักหนี้เกษตรกร 2 ปี 20 จังหวัดภัยแล้ง





ธ.ก.ส.เตรียมเสนอบอร์ดสัปดาห์นี้อนุมัติมาตรการแก้ภัยแล้ง เน้นปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท พักหนี้นาน 2 ปี ใน 20 จังหวัดภัยแล้ง ก่อนเสนอครม.เร็วๆ นี้

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มทวีความรุนแรงมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างต่อเนื่อง หลายสำนักระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 จะรุนแรงและยาวนานไปถึงเดือนพฤษภาคม โดยศูนย์พยากรณ์ธุรกิจและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายจากภัยแล้งว่า จะรุนแรง เท่ากับปี 2558-2559 และทำให้สูญเสียเม็ดเงินกว่า 8,000-10,000 ล้านบาท จากความกังวลของประชาชนจนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) วันที่ 29 มกราคม 2563 ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง 20 จังหวัดให้พิจารณา โดยมาตรการประกอบด้วย มาตร การขยายเวลาพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งเป็นเวลา 2 ปี จนถึง 31 ธันวาคม 2564 และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับให้เกษตรกรและภาคธุรกิจไปลงทุนพัฒนาแหล่งนํ้า รับมือภัยแล้ง โดยให้ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี

ทั้งนี้ถือเป็นมาตรการที่ออกมาเสริมจากมาตรการปกติที่ธ.ก.ส.ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว เนื่องจากคาดว่า ปีนี้พื้นที่ประสบภัยแล้งมีแนวโน้มจะขยายความรุนแรงมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ แม้ธนาคารจะช่วยพักหนี้ไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดเพียงบางจังหวัดแต่ปีนี้จะขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นมากขึ้น จึงต้องขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมไปให้เกษตรกร

ส่วนมาตรการสินเชื่อจะเน้นปล่อยกู้ เพื่อให้ไปใช้ในการวางระบบนํ้า เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล การขุดบ่อเก็บกักนํ้า หรือลงทุนวางท่อทำระบบนํ้าต่างๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งไปได้ระดับหนึ่ง

“หากที่ประชุมบอร์ดธ.ก.ส.เห็นชอบ จะมีการเสนอมาตร การแก้ภัยแล้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ นี้ทันที ส่วนการประเมินผลกระทบจากภัยแล้งปีนี้ อยู่ระหว่างรอการประสาน ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย”

ทั้งนี้ที่ผ่านมาธ.ก.ส.มีมาตรการดูแลเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 4 มาตรการด้วยกัน ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 55,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการใช้จ่ายฉุกเฉิน ครัวเรือนละ 50,000 บาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจำเป็นในครัวเรือน และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดดอกเบี้ย MLR -2% ต่อปี และกำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ ปรับปรุงระบบนํ้า ขุดเจาะนํ้าบาดาล รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร

นอกจากนั้นยังมีโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยกรณีประสบภัยแล้งไร่ละ 1,200-1,500 บาท  ขณะเดียวกันธนาคารยังขยายเวลาชำระหนี้ให้กับเกษตรกรผู้ประสบภัยไปถึงปี 2564 โดยจะยกเว้นเงินต้น ชำระเพียงอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีก่อน หากลูกค้ารายใดได้รับการช่วยเหลือขยายเวลาชำระหนี้อยู่แล้วก็จะได้การช่วยเหลือไปต่อเนื่อง แต่หากรายใดที่ประสบภัยและยังไม่เคยติดต่อขอยกเว้นผ่อนชำระเงินต้น ก็สามารถติดต่อได้ที่ธ.ก.ส.ทุกสาขา

ส่วนมาตรการสุดท้าย ธนาคารจะใช้เงินกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรม ชาติและภัยพิบัติ มาช่วยดูแลเกษตรกร จัดหาแหล่งนํ้ากินนํ้าใช้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน นํ้าในระยะสั้นได้อีกด้วย

ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: