3 ก.พ.63 3M รายงานผลประกอบการในไตรมาส 4 พบว่า มียอดขายรวม 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% แต่เมื่อเทียบกับเงินสกุลท้องถิ่นลดลง 2.6% โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิก ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ลดลงถึง 2.7%
นอกจากนี้ยังได้บันทึกค่าใช้จ่ายอีก 214 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.7 พันล้านบาท เนื่องจากถูกฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีของ PFAS ซึ่งถูกมองว่าเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง และส่งผลกระทบต่อตับกับต่อมไทรอยด์ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“เรายังคงเผชิญกับความเปราะบางในบางตลาด โดยเฉพาะในจีน ความผันผวนในตลาดรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมของเรา” Michael Roman ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ 3M กล่าว พร้อมกับเสริมว่า การปลดพนักงานจะมีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจและทุกภูมิภาค โดยคาดว่าจะช่วยทำให้บริษัทลดต้นทุนได้ปีละ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.7 พันล้านบาทภายหลังปรับโครงสร้าง
3M เป็นหนึ่งในธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในเดือนเมษายนปี 2019 หุ้นลดลง 13% ภายใน 1 วัน ซึ่งเลวร้ายที่สุดในรอบสามทศวรรษ ภายหลังบริษัทออกมาเปิดเผยว่า ความผันผวนในจีนและเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ทำให้ยอดขายและกำไรลดลง เพื่อทำให้ธุรกิจไปต่อได้ จึงจำเป็นต้องปลดพนักงาน 2,000 คน ขณะเดียวกันการปลดคนในครั้งที่ 2 อีก 1,500 คน ทำให้หุ้นร่วงลงเกือบ 6% เช่นเดียวกัน
และแม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะไม่แข็งตัวดังเช่นที่ผ่านมา สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มคลี่คลายภายหลังลงนามในข้อตกลงการค้าระยะที่หนึ่ง แต่ 3M ก็ยังต้องดิ้นรนต่อไป เพราะยอดขายลดลงทั้งในเอเชียและยุโรป
ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสอย่างเต็มปากเต็มคำ แม้ว่าความต้องการผลิตหน้ากากป้องกันไวรัสกำลังเพิ่มขึ้น และ 3M กำลังเพิ่มการผลิตอย่างเต็มที่ก็ตาม ด้วย 3M ไม่ได้มีธุรกิจเพียงอย่างเดียว ขณะที่การปิดโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันการระบาด ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจของ 3M ด้วยเช่นกัน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ