เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.เห็นชอบโครงการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM) มาใช้เพื่อเป็นมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก จำนวน 30,000 เครื่อง วงเงิน 877.26 ล้านบาท โดยขอผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการค่าเช่าอุปกรณ์ฯ ระยะเวลาดำเนินการ 30 เดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2565 วงเงิน 832.5 ล้านบาท พร้อมทั้ง เห็นชอบให้ยกเลิกการผูกพันงบประมาณรายการค่าเช่าอุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) พร้อมระบบควบคุมการทำงาน จำนวน 4,000 เครื่อง วงเงิน 151.20 ล้านบาท ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 เนื่องจากบริษัทคู่สัญญาส่งมอบอุปกรณ์ไม่ตรงตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า ทางกรมคุมประพฤติจึงบอกเลิกสัญญา โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัดในเรือนจำโดยการเช่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำผิดตามที่กรมประพฤติกำหนด ครอบคลุม 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ถูกคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 2.ผู้ต้องราชทัณฑ์ นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักการลงโทษหรือได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และ 3) ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า คุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ตามที่กำหนดไว้ เช่น เป็นระบบ GPS และระบบ RF (Radio-Frequency คลื่นความถี่วิทยุ) แบบชิ้นเดียว มีน้ำหนักรวมไม่เกิน 250 กรัม ระบบการแจ้งเตือน เป็นการแจ้งเตือนแบบ Real-time เมื่อเกิดเหตุกับอุปกรณ์ เช่น แบตเตอรี่เหลือน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ออกนอก/เข้าเขตพื้นที่ที่กำหนด ถอดอุปกรณ์หรือสายรัดโดยไม่ได้รับอนุญาต อุปกรณ์/สายรัดถูกทำลาย เป็นต้น โดยระบบจะแจ้งเตือนผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) เว็บไซต์ (Web) 2) การส่งข้อความ (SMS) ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ตามเขตพื้นที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตามที่กรมคุมประพฤติกำหนด และ 3) การส่งข้อมูลผ่าน E-mail ไปยังเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กระทรวงยุติธรรมจะนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้กับกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 137,062 ราย สรุปได้ดังนี้ 1.กลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์การพักโทษในกรณีปกติ รวม 21,117 ราย แบ่งเป็นคดีทั่วไป จำนวน 3,333 ราย คดียาเสพติด จำนวน 17,784 ราย 2.กลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์การพักโทษในกรณีมีเหตุพิเศษ รวม 72,298 ราย แบ่งเป็นคดีทั่วไป จำนวน 12,532 ราย คดียาเสพติด จำนวน 59,766 ราย 3.ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์คดียาเสพติด รวม 13,647 ราย และ 4.ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ .2545 ที่ยังไม่สามารถเข้ารับการบำบัดในศูนย์วิวัฒน์พลเมืองได้ รวม 30,000 คน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ