“ธปท.” เร่งเดินหน้าพัฒณาระบบชำระเงินข้ามแดน ผ่านคิวอาร์โค้ด หวังกลางปีนี้เชื่อมบริการ 3 ประเทศ สิงค์โปร์ เมียนมา กัมพูชา เผยสถิติระบบแบงก์ขัดข้องไตรมาส 4 ปี 62 ยังสูง รวม 17ครั้ง พบ “อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง” ล่มถี่
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีความคืบหน้ามากขึ้น ในการพัฒนาระบบชำระเงินข้ามพรมแดน (cross-border payment) ผ่านคิวอาร์โค้ดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะ 3 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ เมียนมา และกัมพูชา คาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการการชำระเงินข้ามแดนใน 3 ประเทศได้ ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป จากก่อนหน้านี้ ธนาคารธนชาตให้บริการในประเทศลาวแล้ว
ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันมีหลายสถาบันการเงิน ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อให้บริการข้ามประเทศมากขึ้น ในประเทศกัมพูชา เช่น ธนาคารกรุงไทยที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบชำระเงิน ในประเทศสิงคโปร์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้พัฒนาระบบชำระเงินไปแล้วในประเทศญี่ปุ่น
โดยการให้บริการชำระเงินข้ามประเทศในปัจจุบัน ทำผ่าน 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ เป็นการพัฒนาบริการระหว่างธนาคารกับธนาคาร หรือการเป็นสปอนเซอร์ ขณะที่อีกระบบคือ การใช้ระบบในการเชื่อมต่อกัน หรือ switching-to-switching
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการชำระเงินดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกลาง สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการระบบชำระเงินในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันภายใต้โรดแมป National e-Payment ของไทย ในปีนี้จะเน้นด้านการชำระเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศเป็นหลัก
สำหรับการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินในปัจจุบัน หากดูสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องในไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ระบบขัดข้องของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวสูงขึ้น แต่เชื่อว่าในการบริหารจัดการปัญหาเมื่อเกิดระบบขัดข้อง แบงก์ทำได้ดีขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาน้อยลง เพื่อให้การให้บริการธนาคารเกิดความต่อเนื่องมากขึ้น
ทั้งนี้หากดูสถิติไตรมาส 4 ที่ผ่านมา พบว่า โดยภาพรวมระบบขัดข้องเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17 ครั้ง จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 12 ครั้ง โดยระบบขัดข้องบนโมบายแบงกิ้งใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมาที่ 8 ครั้ง โดยธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ขัดข้อง 2 ครั้ง ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทิสโก้ ระบบขัดข้องแห่งละ 1 ครั้ง แต่หากดูอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งกลับมาขัดข้องมากขึ้น รวมกัน 5 ครั้ง จากไตรมาสก่อนที่ไม่มีระบบขัดข้อง ขณะที่การขัดข้องผ่านเอทีเอ็ม ซีดีเอ็มพบว่าเท่ากับไตรมาสก่อน ส่วนสาขาพบว่าขัดข้อง 1 ครั้ง
ด้านนายสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product Solution ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศในกัมพูชา โดยในระยะแรกธนาคารจะเน้นลูกค้าบุคคลและนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศเป็นหลัก ในการให้บริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดข้ามประเทศ และจะขยายสู่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี โดยเฉพาะร้านค้าและผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซในระยะต่อไป ทั้งนี้ธนาคารได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางกัมพูชาให้เป็นหนึ่งใน Settlement Bank ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีโอกาสในการสร้างรายได้จากบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ