เมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 19 ก.พ. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผอ.รมน. เป็นประธานพิธีงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 12 ปี ประจำปี 2563 โดยมีคณะกรรมการอำนวยการกอ.รมน. ผู้แทนส่วนราชการ ผู้บังคับบัญชา ข้าราชการกอ.รมน. เข้าร่วมพิธีสงฆ์
จากนั้นเวลา 07.30 น. หลังจากเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ พล.อ.อภิรัชต์ ได้เดินทางกลับทันที โดยมอบหมายให้พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผบ.ทบ. แถลงรายละเอียดการเปิดสายด่วน ให้กำลังพลร้องเรียนถึงผบ.ทบ.ได้โดยตรง ว่า จากนโยบายของผบ.ทบ.ที่ต้องการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกำลังพลให้รวดเร็ว
จึงได้จัดตั้งช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างกำลังพลกับผบ.ทบ. คือสายตรงแก้ไขปัญหาสำหรับกำลังพลกองทัพบก หมายเลขโทรศัพท์ 0-2018-7330 หรือสายตรงผบ.ทบ. โดยเป็นการดำเนินการจากผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ในลักษณะคอลเซ็นเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง มีสโลแกนว่า “ทุกเรื่องคือความลับ ทุกเรื่องถึงผบ.ทบ.ทั้งหมด
พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาระบบของกองทัพบกได้เปิดให้กำลังพลที่มีเรื่องเดือดร้อนสามารถร้องทุกข์ได้ ซึ่งในอดีตการร้องทุกข์จะดำเนินการได้โดยผ่านตามสายการบังคับบัญชา หากผู้บังคับกองร้อยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนเป็นที่พอใจ สามารถร้องเรียนมายังผู้บังคับกองพันได้ หากยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็ร้องเรียนมายังผู้บังคับการกรมตามลำดับจนถึงผบ.ทบ.
“ปัจจุบันและสถานการณ์ต่างที่เกิดขึ้นสังคมรู้สึกว่า กำลังพลไม่ได้รับความเป็นธรรม ผบ.ทบ.จึงเปิดสายตรงเพื่อให้แจ้งความเดือดร้อนมาได้โดยตรง ถือเป็นมาตรการที่มีคุณภาพและวางใจได้ว่าทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรับเรื่องโดยผู้ร้องเรียนต้องระบุชื่อและสังกัดก่อนบันทึกเรื่องใส่ซองปิดผนึกส่งข้อมูลถึงผบ.ทบ.โดยตรง ไม่มีใครทราบรายละเอียดดังกล่าว เป็นการรับประกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเรื่องที่ร้องเรียนมาเป็นความลับอย่างแท้จริง”
พล.อ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผบ.ทบ.ได้สั่งการให้ตนเดินสายชี้แจงกับหน่วยทหารทั่วประเทศ โดยพบปะผู้บังคับหน่วยตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับกองพันเพื่อทำความเข้าใจกับนโยบายของผบ.ทบ. อีกทั้งเน้นย้ำเรื่องกำลังพลว่าผู้บังคับหน่วยต้องเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชา และต้องไม่ทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย ต้องใกล้ชิดกับผู้ใต้บังคับบัญชา
ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาระบบทหารจำเป็นต้องใช้ความเด็ดขาด เพื่อบังคับบัญชาการรบ แต่ปัจจุบันเราได้เพิ่มเติมเรื่องการเอาใจใส่ทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้นผู้บังคับบัญชาต้องไม่ทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย แต้ต้องมีความเด็ดขาดในภารกิจทหารเช่นเดิม ซึ่งปัจจุบันผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างโดยการลดคณะผู้ติดตามให้เล็กลง มีความเป็นอยู่เรียบง่าย และอาศัยบ้านพักทหารอยู่กินกับกำลังพลแทนการไปพักที่โรงแรม
ในขณะเดียวกันหากมีการปฏิบัติทางทหารก็ยังคงไว้ซึ่งความเด็ดขาด และต้องผสมผสานกัน เพราะเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ จะนำระบบเดิมมาใช้ไม่ได้ แต่ทหารก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้ระบบการบังคับบัญชา ไม่เช่นนั้นหากมีเหตุการณ์รบในอนาคตต้องมานั่งประชุมว่าจะรบดีหรือไม่ดี ทำเช่นนั้นคงไม่ได้ ต้องสั่งการให้ไปทันที ตนอยากให้สังคมเข้าใจตรงนี้
พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า กองทัพบกยืนยันว่ารับฟังเสียงสะท้อนจากสังคมที่มองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำภายในกองทัพบก หรือระบบศักดินาหรือไม่ เราก็พยายามปรับตัวอยู่ สิ่งที่ทำได้ในเวลาราชการคือคงความเด็ดขาดในสายการบังคับบัญชา แต่นอกเหนือเวลานั้นจะผ่อนลงและเข้าไปสร้างความคุ้นเคยกับผู้ใต้บังคับบัญชา
“ขอยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆ ไม่ใช่การปาหี่อย่างที่ถูกฝ่ายการเมืองกล่าวหา อะไรที่เริ่มต้นจากเบอร์ 1 เป็นเรื่องที่จริงจังทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องปาหี่แน่นอน ผมเข้าใจว่าสังคมอยากทราบว่าระบบสายตรงผบ.ทบ. เวิร์คหรือไม่ ยืนยันว่าคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่เอกชนที่มีประสบการณ์ในการรับเรื่องและประมวลเรื่อง”
“หากมีคนร้องเรียนมาเรื่องเดียวกันจำนวน 1-2 คนก็จะรับเรื่องไว้ แต้ถ้าเรื่องใดมีคนร้องเรียนมาประมาณ 100 คน ก็ควรได้รับการให้ความสำคัญ ในส่วนของผู้บังคับหน่วยที่มีความกังวลว่าอาจถูกใส่ร้าย ผบ.ทบ.ได้ให้นโยบายว่าไม่ต้องกังวล คนที่โตมาถึงระดับผบ.ทบ. หรือรองผบ.ทบ. มีดุลยพินิจพอว่าเรื่องใดเป็นการใส่ความ เรื่องใดเป็นเรื่องจริง เพราะผ่านระบบกลั่นกรองมาแล้ว จึงขอให้มั่นใจ”
พล.อ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า เมื่อผบ.ทบ.ประเมินแล้วว่าเรื่องใดเป็นเรื่องจริงก็จะติดต่อไปยังผู้บังคับหน่วยนั้น เพื่อสอบถาม หากมีมูลความจริงก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าเรื่องใดก็ตามที่ถูกนำมาพิจารณา ผู้ที่ถูกร้องเรียนก็จะสงสัยคู่กรณี ส่วนที่เป็นห่วงว่าผู้ถูกร้องเรียนจะถูกกลั่นแกล้งได้นั้น กองทัพบกมีระบบดูแลอยู่แล้ว โดยการย้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไปก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการสอบสวน เช่นเดียวกับกรณีที่ผบ.ทบ.สั่งย้ายผู้บังคับหน่วยในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 หลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เพื่อเปิดทางการสอบสวนและผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถให้การได้อย่างอิสระ
“อยากเรียนไปถึงประชาชนว่าทุกเรื่องขึ้นอยู่กับทัศนคติ แต่อยากให้มั่นใจระบบของกองทัพบกว่ามีเจตนาดีและตั้งใจทำให้ดีที่สุด แต่หากเรื่องใดเกินอำนาจกองทัพบกก็จะส่งให้หน่วยงานภาคนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ ทั้งนี้กองทัพบกให้ความสำคัญเรื่องการจัดการภายในของหน่วยนั้นๆ และหากระบบเดิมกลับมามีประสิทธิภาพ เปิดช่องทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้ามาร้องเรียนได้อย่างอิสระเสรี เป็นไปได้ว่าสายตรงผบ.ทบ.อาจยกเลิกได้ในอนาคต” พล.อ.ณัฐพล กล่าว
เมื่อถามว่า จะดูแลอย่างไรหากกำลังพลมีพฤติกรรมเลียนแบบการใช้ความรุนแรงที่จ.นครราชสีมา พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ทหารมีระเบียบวินัย เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดได้จากทุกสาขาอาชีพ แต่ครั้งนี้เกิดจากทหาร ซึ่งลักษณะการก่อเหตุเรียกว่า lone wolf หรือหมาป่าเดี่ยวดาย ปัจจุบันคำนี้ใช้กับผู้ที่ก่อเหตุร้ายที่ทำคนเดียว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกอ.รมน. ที่ผบ.ทบ.ได้สั่งการให้ศึกษามาก่อนหน้านี้ และได้สรุปเป็นบทเรียนไว้แล้ว แต่ในช่วงนั้นยังไม่มีเหตุการณ์จึงยังไม่ได้รับความสนใจ
“ผบ.ทบ.จึงให้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษาจริงจังอีกครั้งโดยเร็วที่สุด และกำหนดบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรจะต้องทำอย่างไร เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก ซึ่งไม่ใช่กอ.รมน.จะทำหน่วยงานเดียวได้ แต่ต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาศึกษา เมื่อได้ข้อยุติแล้วก็จะแบ่งมอบบทบาทไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากรัฐบาลได้มอบให้หน่วยงานใดรับผิดชอบ เราก็จะนำสิ่งที่เราศึกษาส่งมอบให้หน่วยงานนั้นต่อไป”
พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า อยากให้สังคมทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีทหารและครอบครัวกำลังพลได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะถูกตำหนิด้วยคำพูด สายตา และการกระทำว่าเพราะเหตุใดทหารถึงทำเช่นนี้ แต่กำลังพลทั้ง 2 แสนคนกำลังถูกตำหนิ ในขณะที่คนที่ทำผิดแค่ 2-3 คน จึงขอความกรุณาและเห็นใจกับประชาชนทุกคนให้เมตตากับทหารที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะทหารทุกคนก็คือลูกหลานของท่าน
ทั้งนี้กองทัพบกมีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น ทหารที่ปฏิบัติอยู่ไม่ว่าจะเป็นบริเวณชายแดนที่ทำงานด้วยความเสียสละ และตั้งใจทำงานก็พลอยได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย รวมถึงครอบครัวกำลังพลก็ได้รับผลกระทบ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ