ศาล รธน. มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้แก้ไขทั้งมาตรา 301 และมาตรา 305
19 ก.พ. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีนางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และ มาตรา 77 หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ซึ่งปรากฏผลการลงมติดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือมาตรา 28
ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77
ประเด็นที่สาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 กำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีผลเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
โดยก่อนหน้านี้ กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊คก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า
“จำนวนประเทศที่ห้ามการทำแท้งในทุกกรณีนั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีเพียง 4 ประเทศ (เอลซาลวาดอร์ นิคารากัว โดมินิกัน และมอลตา) กับอีกหนึ่งรัฐคือวาติกัน แต่ในมอลต้าเองในทางปฏิบัติก็ยอมทำแท้งในกรณีที่การท้องนั้นส่งอันตรายต่อชีวิตของผู้หญิงที่ท้อง
แน่นอนว่า ทุกประเทศที่ว่ามานี้เอาผิดกับผู้หญิงที่ไปทำแท้ง คือถือเป็นความผิดอาญา ต้องตางตะหริด ติดตาราง แต่หลายประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในบางเงื่อนไข ก็มีมาตราที่ลงโทษผู้หญิงที่ไปทำแท้งเถื่อน ดังเช่นประเทศไทยตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 301 ที่ว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ”
ในประเทศอื่น เช่น เนปาล เกาหลี และไอร์แลนด์ (ที่ไอร์แลนด์เดิมก็ห้ามทำแท้งทุกกรณี เพิ่งมีการทำประชามติเมื่อ 2-3 ปีก่อนให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ปัจจุบันอนุญาตให้ทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ กรณีที่อายุครรภ์มากกว่านี้อาจยกเว้นให้ในบางเงื่อนไข) ก็ได้ยกเลิกการเอาผิดผู้หญิงทำแท้งไปแล้ว
เมื่อตุลาคม 2561 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้จับมือกับเครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสา (RSA) ได้ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญในนามของหมอRSAผู้หญิงท่านหนึ่งที่ถูกตำรวจจับ ขอให้ศาลวินิจฉัยว่ามาตรา 301 และ 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง!!! ตอนนี้เวลาผ่านไป 1 ปีกับ 5 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ)
คนทำงานด้านสิทธิการทำแท้งหลายฝ่ายคิดว่า ควรยกเลิกมาตรา 301 และแก้ไขมาตรา 305 ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ขัดข้องใดๆ แต่ใจจริงๆอยากให้ยกกฎหมายทุกมาตราที่เกี่ยวกับการทำแท้งออกจากประมวลกฎหมายอาญาเลยค่ะ คือต้อง #DecriminalizedAbortion
12 มีนาคม 2563 นี้เราจะมีเสวนาเชิงนโยบายเรื่อง
ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย: การทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ!”
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ