นที่ 22 ก.พ. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อหายดีและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้อีก 1 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น จึงมีผู้ป่วยหายดีกลับบ้านได้แล้ว 20 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2 ราย อาการยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ รวมผู้ป่วยสะสมคงที่เท่าเดิม 35 ราย
ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง 1,252 ราย กลับบ้านแล้ว 1,006 ราย ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 246 ราย ทั้งนี้ การที่มีตัวเลขผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้นแสดงว่าระบบไม่ได้หย่อนยาน ยังมีการคัดกรองเข้มเพิ่มมากขึ้น
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมที่ประเทศไทยมีการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากประเทศจีน รวมถึง ฮ่องกง มาเก๊า ไทเป ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจับตาประเทศอิตาลีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีรายงานการพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่พอสมควร หากพบว่า ไม่สามารถคุมสถานการณ์การระบาดได้ และมีการระบาดในประเทศเพิ่มขึ้น ประเทศไทย ก็จะมีการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลีอย่างเข้มข้นทันที เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่พบการระบาดภายในประเทศแล้วก่อนหน้านี้
“ความเสี่ยงรายบุคคลของคนไทยที่อยู่ภายในประเทศไทยต่ำมาก โอกาสที่จะเดินไปแล้วติดเชื้อจากคนที่เดินไปมาในประเทศถือว่าต่ำ แม้ความเสี่ยงของประเทศไทยที่จะเจอการระบาดในประเทศเพิ่มขึ้นเหมือนในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ยังต่ำอยู่ แต่ความเสี่ยงกำลังค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ยังเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำ จากการที่มีประเทศที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มจำนวนมากขึ้น และผู้เดินทางจากประเทศเหล่านี้มีโอกาสที่จะเป็นผู้ติดเชื้อเข้ามาในประเทศได้” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการจัดงานโมโตจีพีที่ จ.บุรีรัมย์ และการชุมนุมทางการเมือง จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือไม่ และมีคำแนะนำอย่างไร นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ทั้ง 2 เรื่องเป็นลักษณะเดียวกัน คือ การรวมตัวกันของคนจำนวนมาก มีความเสี่ยงอย่างชัดเจน แต่ความเสี่ยงที่สูงไม่สำคัญเท่ากับว่า จะสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้หรือไม่ เช่น แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยในห้องความดันลบทุกวัน แต่ไม่ติดเชื้อเพราะสามารถจัดการความเสี่ยงได้ ดังนั้นหากการรวมตัวกันไม่มีผู้ป่วยเข้าไปร่วมเลย ความเสี่ยงจะเป็นศูนย์ และไม่มีการแพร่เชื้อเลย แต่หากจำเป็นต้องจัดต่อไป สิ่งที่ต้องทำคือ 1. ผู้ที่มีอาการคล้ายจะเป็นไข้หวัด ทั้งอาการเบาและหนัก ห้ามออกไปร่วมงาน 2. ผู้จัดงานต้องคัดกรองผู้ที่มีไข้ ไอ เจ็บคอ ออกจากงาน
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนในกรณีการออกมาชุมนุมทางการเมืองคงเป็นหลักการเดียวกัน ถ้าจำเป็นจริงๆ จะต้องมารวมตัวกันด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ คือ ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ อย่าเพิ่งไปรวมตัวกัน เพราะอาจจะนำโรคไปให้กับคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก และคนจัดกิจกรรม ก็ควรจะคำนึงถึงสุขภาพของคนอื่นด้วย ต้องมีความรับผิดชอบต่อคนที่ชักชวนมาร่วม จะต้องมีการคัดกรองไข้ ต้องเตรียมหน้ากากผ้าให้เพียงพอ ต้องเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับทุกคนที่มาร่วมงานในการที่จะให้ล้างมือบ่อยๆ และป้องกันการแพร่เชื้อทุกทาง รวมถึงการแจกจ่ายอาหารเครื่องดื่ม ก็จะต้องเป็นอาหารร้อน โดยเฉพาะในส่วนผู้ที่แจกจ่าย หากเป็นผู้ติดเชื้อแล้วไปจับแก้ว ก็อาจจะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้เช่นกัน
“หากไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงก็อย่าจัด มันไม่ใช่เวลาที่เหมาะและจะเป็นการสนับสนุนไวรัสให้มันแพร่เชื้อได้โดยง่าย คิดว่ามีหลายวิธีที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยหรือความไม่พอใจทางอื่น ถ้าสามารถทำทางอื่นได้แนะนำให้ทำทางอื่น เพราะในมุมมองของการแพทย์และการสาธารณสุขช่วงเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ถ้าสุขภาพของผู้คนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ก็แนะนำว่ากิจกรรมบางอย่างสามารถชะลอได้ก็ชะลอไปก่อน” นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ