เรื่องจริงของคนเรียนต่อ ป.โท-ป.เอก ที่คนทั่วไปมักจะไม่รู้/เข้าใจผิด





 

 

ภาพประกอบจาก alabamaconnection.org

 

ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ดีหรือน่าอิจฉามาก หากเราได้ยินว่าใครสักคนวางแพลนไว้หลังจบ ป.ตรี ว่าจะเรียนต่อ ป.โทก็น่าสนใจ ป.เอกก็น่านับถือ ยิ่งไปเรียนเมืองนอกยิ่งอิจฉาใหญ่ ซึ่งไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงของพวกเขาจะเพื่อหน้าที่การงานในอนาคต หรือเพื่ออะไรก็ตาม นี่คือความจริงที่คนเรียนต่ออยากบอกให้รู้ว่า “คุณเข้าใจผิดหลายอย่าง”,  “อย่าอิจฉาพวกเขาเลย” และ “ยังมีอีกหลายอย่างที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน”

 

1. คนเรียนต่อเป็นคนมีฐานะดี

“มีเงินค่าเทอม” คนละความหมายกับมีฐานะดี บางคนเรียนไปทำงานไป บางคนเก็บออมเงินมาหลายปีเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งหลายสถาบันเดี๋ยวนี้ก็มีทุนการศึกษาไม่ต่างกับ ป.ตรี เลย บางสถาบันหรือบางสาขาวิชาออกค่าใช้จ่ายจนจบเพื่อสนับสนุนงานวิจัยก็มี

 

2. คนเรียนต่อเป็นคนที่ไม่มีแผนการทำงาน

ผิดคาดกว่าที่เราเดาไว้ว่า คนเรียนต่อไม่อยากทำงานเลยสมัครใจที่จะอยู่ในระบบการศึกษา เพราะตรงกันข้ามกันนั้น พวกเขาเป็นคนที่วางแผนการทำงานไว้ได้ดี ไม่สะเปะสะปะเหมือนบางคนที่หลังเรียนจบ ป.ตรีแล้วต้องเปลี่ยนที่ทำงานไปเรื่อยอย่างไม่รู้จุดมุ่งหมายชีวิต เพราะคนที่เรียนต่อบางคนก็ต้องการจะทำงานในสายวิชาการให้ได้ (เช่น นักวิชาการอิสระ, อาจารย์มหาวิทยาลัย) บางคนก็เรียนต่อเพื่อนำความรู้ไปต่อยอดในธุรกิจส่วนตัว บางคนมาเรียนก็เพื่อมาหาคอนเนคชันให้กับหน้าที่การงานของตนเอง

 

3. คนเรียนต่อเป็นพวกว่างจัด

คนภายนอกมักมองว่าแค่รายงาน แค่ทำวิจัยไม่กี่เรื่อง ใช้เวลาแป๊บเดียวก็จบแล้ว ในมีเข้าเรียนไม่กี่คาบและสอบไม่กี่วันเอง แต่ความเป็นจริงแล้วช่างสวนทางกันเหลือเกิน ชีวิตของคนเรียนต่อมักวนเวียนกับการทำรายงาน… รายงาน… และรายงาน ไปจนกว่าจะผ่าน โดนแก้งานแล้วแก้งานอีก โดนด่าซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่างานจะมีคุณภาพงานสมชื่อเสียงสถาบัน มันไม่ง่ายอย่าง ป.ตรี ที่อาจารย์บางท่านอะลุ้มอล่วยช่วยลูกศิษย์กันไปง่าย ๆ หรอก

 

4. คนเรียนต่อเป็นพวกเนิร์ด เฉิ่มเชย

การเรียนต่อก็คือการแสวงหาความก้าวหน้า ต่อยอดจากความรู้เดิมให้แตกต่างไปอีก ถ้าคุณคิดว่าพวกเขาจะต้องเป็นยัยป้าหน้าแว่นหรือคุณชายจอมเฉิ่ม ไม่ทันคน คิดผิดเสียแล้ว เพราะกระบวนการศึกษาที่คัดแล้วคัดอีกมันกลับกล่อมเกลาให้พวกเขาเป็นคนรู้จักวางตัวอย่างสมาร์ท ทันโลก ทันคนมากขึ้น อีกทั้งเดี๋ยวนี้หลายสาขาวิชาก็เชื่อมโยงกับวิทยาการสมัยใหม่ที่บางทีแล้วคุณไม่เคยรู้มาก่อนก็มีถมไป

 

5. คนเรียนต่อรู้อะไรตั้งมากมายในสาขาวิชาที่จบมา

ยิ่งเรียนสูงเท่าใด ขอบเขตของการวิจัยก็ยิ่งแคบลง มีความเป็นเฉพาะทางมากขึ้น ดังนั้น ถ้าสมมติว่าเขาเป็นหมอที่จบเกี่ยวกับผิวหนังโดยตรง คุณจะไปคาดคั้นให้เขารู้เรื่องกระดูกด้วยก็เป็นไปได้ยากมาก ถึงเป็นไปได้เขาก็อาจรู้แค่บางส่วนที่เกี่ยวกับกระดูกแค่พื้น ๆ เศษเสี้ยวหน่อยนึง แต่ไม่ลงลึกมากมายก็เท่านั้นเอง

 

6. คนที่เรียนต่อส่วนมากเป็นคนโสด

มันก็แค่เฉพาะคนที่รักไม่ยุ่งมุ่งแต่ปริญญาเท่านั้น ยังมีคนอีกมากที่พบรักในขณะที่เรียนต่อ มีคนจำนวนไม่น้อยเรียนต่อโดยที่มีแฟนแล้ว และมีอีกมากเช่นกันที่มีลูกแล้วก็ยังสนใจที่จะเรียนต่อ

 

7. สำหรับคนที่มีแฟนแล้ว เวลาว่างต้องเทให้แฟนเท่านั้น

แม้แต่เวลาส่วนตัวอย่างเช่นเวลาหลับนอนยังแทบจะไม่เต็มอิ่ม ไหนจะเวลาว่างจากการทำงานที่จะต้องรีบปั่นเปเปอร์(วิทยานิพนธ์หรือตัวจบ)ก่อนโดนสอบในแต่ละสัปดาห์ เพราะฉะนั้น อย่าหวังเลยว่าพวกเขาจะมีเวลาให้แฟนมากมายเสมอไป อย่าคาดคั้นว่าจะได้คำตอบที่แน่นอนเมื่อไหร่ หรือเป็นคนไปกำหนดเขาเองว่าจะต้องเจอกันเมื่อไหร่ ถ้าไม่อยากเฟล ควรรอให้เขาคอนเฟิร์มเองดีกว่าว่าจะเจอกันได้ที่ไหน เมื่อไหร่ ยังไงบ้าง และไม่ควรเก็บเรื่องเล็กน้อยมาเป็นประเด็นให้ทะเลาะกันเปล่า ๆ

 

8. เห็นจากในรูปหรือสเตตัสแล้วชีวิตชิ๊ลชิล ดี๊ดี

บางคนที่โพสต์อะไรเรื่อยเปื่อยไม่จำเป็นว่าจะต้องว่างมากเสมอไป เขาก็อาจเพียงแค่อยากแว้บมาคลายเครียดไม่กี่นาทีก่อนสลับหน้าจอเข้าสู่โหมดการทำงาน มาอัพเดทชีวิตส่วนตัวบ้าง อัพเดทข่าวบ้าง ก่อนที่จะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องประมาณนั้นก็ได้ ใครจะไปมีแรงฮึดปั่นเปเปอร์ได้ทั้งวันทั้งคืนกัน

 

9. ก็แค่ทำแฮนดี้ไดรฟ์หายเอง ทำไมจะต้องโกรธ

นอกจากคอมพิวเตอร์ส่วนตัว, กล้องถ่ายรูป, เงิน, สมาร์ทโฟน ก็ยังมีแฮนดี้ไดรฟ์ที่ไม่ควรแตะต้องหยิบยืมกันเด็ดขาด เพราะนั่นคือแหล่งข้อมูลสำคัญที่มีผลว่าเขาจะเรียนจบภายในกำหนดหรือไม่ สำหรับคนเรียนต่อแล้วแฮนดี้ไดรฟ์มันมีค่ายิ่งกว่าเงินทองเสียอีก เพราะเงินทองไม่ตายก็หาใหม่ได้ แต่ผลงานที่อยู่ในนั้น ต่อให้แก้มาใหม่มันก็ไม่มีทางเทียบกับของเดิมได้เลย… หมดกัน! ทำมากับมือ!

 

10. เรียนจบมาแล้วไม่ได้ทำงานตรงสาย น่าเสียดาย ไร้ประโยชน์

เป็นความคิดที่ค่อนข้างแคบไปหน่อยหากจะมองว่าเราต้องทำงานตรงกับที่เรียนมาเท่านั้นถึงจะถูกต้อง ในเมื่อชีวิตจริงของคนเรามีหลายด้าน หลายเรื่องราวผสมผสานกันอยู่ มันผิดตรงไหนกันเล่าที่คนเราอยากเรียนไปเพื่อประยุกต์ความรู้ความสามารถให้กับด้านอื่นบ้าง เช่น เรียนจบวิศวะฯ ทั้ง ป.ตรี และ ป.โท แต่มารับงานด้านสื่อสารมวลชน เรียนจบ ป.โท เมืองนอกแต่ต้องการเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เชื่อเถอะว่าไม่มีใครไม่ได้อะไรเลยจากการเรียนรู้ และเชื่อเถอะว่าการที่คนเราจะประกอบอาชีพอะไรนั้น ไม่เพียงแต่ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ใจรักใจชอบก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกัน

 

อย่าเพิ่งดูถูกเส้นทางชีวิตของใคร ไม่ว่าจะเป็นของตัวคุณเองหรือของคนอื่นก็ตาม ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ ความฝันของคนเรามีสิทธิเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้นจนกว่าจะเจอสิ่งที่รู้สึกใช่จริง ๆ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: