17 สิ่งที่พิสูจน์ว่าเด็กมัธยมยุค 2546-2550 เป็นคนอดทนมาก





ในยุค 2558 นี้ถ้าจะนับว่ามีวันไหนที่เราไม่แตะเทคโนโลยีบ้างคงนับได้น้อยมากหรือนับไม่ได้เลยว่ากี่วัน เพราะแค่ตื่นนอน คนเราส่วนใหญ่ก็รีบคว้าสมาร์ทโฟนเช็คความเคลื่อนไหวในแต่ละวัน อย่างน้อยขอแค่ได้รู้อะไรบ้างสักนาทีต่อวันก็ยังดี ถ้าไม่ได้เข้าโซเชียลเลยสักวันคงเป็นอะไรที่กระวนกระวายอย่างบอกไม่ถูก

ภาพจาก pixabay.com

 

เราเป็นคนหมดความอดทนไปเมื่อไหร่? เราอดทนครั้งสุดท้ายตอนไหน?

ลองย้อนไปในสมัยเมื่อสักช่วงปี 2546-2550

ดูกันทีละข้อว่าเด็กมัธยมในยุคนั้นอดทนกับอะไรบ้าง?

 

1. โทรศัพท์เป็นของสำคัญเฉพาะคนมีฐานะปานกลาง-ร่ำรวย เพราะเครื่องนึงไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือ ราคาหลายพันไปจนถึงหลายหมื่น อีกทั้งค่าโทรก็ไม่ใช่ราคาถูก ๆ ด้วย ถ้าโทรทั้งวันทั้งคืน 1 วันก็แค่แพงกว่าเน็ตรายเดือน 1 เดือนในสมัยนี้เอง

 

2. ถึงโทรศัพท์จะค่อนข้างจำกัดกลุ่มผู้ใช้งานอย่างในข้อ 1 แต่ก็ใช่ว่าคนจน ๆ จะไม่สามารถเข้าถึงได้ จะโทรหาเพื่อน โทรหาแฟนที่มีโทรศัพท์ทั้งทีก็ต้องอาศัยโทรจากตู้สาธารณะ หรือไม่ก็โทรศัพท์ที่ร้านค้าเขาตั้งโต๊ะไว้เอา นาทีละ 3 บาท นาทีละ 5 บาทก็ว่าไป นอกจากแลกเหรียญมาให้พอ ต้องเผื่อใจด้วยว่าคนที่เข้าไปโทรก่อนหน้าเราเขาจะโทรนานเท่าไหร่? พอเราได้โทรปุ๊บก็ต้องเผื่อใจอีกว่าคนที่ต่อคิวจะว่าอะไรมั้ย? ยิ่งเป็นหนุ่ม ๆ ที่จะโทรไปจีบลูกสาวที่พ่อดุ ยิ่งต้องซักซ้อมให้ดีว่าจะพูดอะไร ทำยังไงถึงจะได้พูดกับลูกสาวเขา? กว่าจะจีบกันติด เสียตังค์ค่าโทรไปหลายบาทเลย (บางครั้งก็ดั้นด้นมาตากยุงในตู้มืด ๆ เปลี่ยว ๆ อีก เสี่ยงโดนปล้นก็เสี่ยง แต่คิดถึงมากกว่า)

 

3. วัยรุ่นในยุค 2546-2550 เป็นคนที่เรียนและเล่นเป็นเวลา เพราะหนังสือกับอินเทอร์เน็ตค่อนข้างแยกจากกัน มีแต่บ้านที่รวยเท่านั้นที่จะใช้เป็นรายเดือนทั้งเน็ตและโทรศัพท์ วัยรุ่นส่วนใหญ่มักใช้เวลาเรียนได้อย่างเต็มที่ ออกบ้านตั้งแต่เช้าจรดเย็นคือเวลาเรียนเพียว ๆ กลับบ้านคือเวลาโทรไปเม้าท์ หรือไม่ก็แชทกับเพื่อน (ซึ่งไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกันนักหนาเป็น 2-3 ชั่วโมง เพราะเดี๋ยวพรุ่งนี้มาโรงเรียนก็เจอกันอีกอยู่ดี)

 

4. อินเทอร์เน็ตที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้มีความเร็วแค่56k เด็กที่ไม่มีตังค์จริง ๆ ก็ต้องพึ่งเน็ตฟรีTOT ต่อครั้งละ3บาท เล่นได้นาน2ชั่วโมง บางคนก็ได้เน็ตฟรีจากโรงเรียน30ชั่วโมง(ต่อครั้งละ1-2ชั่วโมงเช่นกัน) พอconnectครั้งนึงต้องเล่นให้คุ้ม เพราะกว่าจะติดได้ต้องลุ้นว่าจะมีใครในบ้านใช้โทรศัพท์บ้านมั้ย? หรือมีใครโทรเข้าบ้านเรารึเปล่า? เพราะเน็ตต้องต่อผ่านสายโทรศัพท์เท่านั้น ถ้าของฟรีหมดก็ต้องไปหาซื้อเป็นแบบการ์ดแข็งๆ เหมือนบัตรเติมเงินมือถือ หรือไม่ก็เข้าร้านเน็ตชั่วโมงละ15บาท/25บาท/30บาท (แต่ต่อครั้งนึงก็คุ้มจริง ๆ เพราะเข้าได้หลายเว็บมาก แถมยังเล่นmsnด้วย)

 

5. วันไหนไม่เล่นเน็ตก็อยู่ได้ด้วยเกมส์ในคอมพิวเตอร์แบบPC โดยเฉพาะเกมส์ TheSims ที่เล่นแล้วเล่นอีกเกือบข้ามวันข้ามคืน ทั้งที่รู้ว่ามันไม่มีทางเคลียร์เหมือนเกมส์อื่นแน่นอน

 

6. สมัยนั้นyoutubeยังไม่ค่อยแพร่หลายเหมือนในตอนนี้ เวลาจะดูอะไรก็ต้องดูสดจากทีวีหรือฟังสดจากวิทยุเท่านั้น ไม่มีรายการย้อนหลังอย่างในสมัยนี้ เรียกได้ว่า ถ้าละครตอนไหนไม่ได้ดูคือพลาดแล้วพลาดเลย หรือถ้ารายการไหนมันเช้ามาก ๆ เช่น ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ, ช่อง9การ์ตูน ถ้าชอบมากก็ต้องจำใจตื่นมาดูแต่เช้า

 

7. กว่าจะร้องเพลงนึงได้ต้องฟังวิทยุซ้ำแล้วซ้ำอีก พอฟังวิทยุไม่แน่ใจก็ต้องลงทุนไปซื้อเทปมาอ่านเนื้อเพลงให้แม่น ใครที่มีตลับเพลงของแท้จึงต้องระวังให้ดี เพราะอาจโดนเพื่อนตีเนียนยืมแล้วยืมเลย ไม่คืนอีกเลย

 

8. นัดกันไปไหนก็ตาม เราสามารถภาคภูมิใจได้ว่าวันนั้นจะได้อะไรบ้าง เพราะการนัดพบกันคือได้คุยกันเล่นกันล้วน ๆ ไม่เหมือนตอนนี้ที่แม้แต่อยู่ใกล้กันก็ยังต่างคนต่างสไลด์หน้าจอคนละเครื่อง

 

9. กว่าจะได้ของแต่ละชิ้นต้องอดทนเก็บเงินซื้อราคาเต็ม เพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมีระบบผ่อนอย่างมากมายในสมัยนี้ อีกอย่างก็คือ ของส่วนใหญ่ในยุคนั้นมีแต่ของแบรนด์ดัง ไม่ค่อยมีของแฮนด์เมดคุณภาพดี ราคานักศึกษาเยอะมากมายอย่างในสมัยนี้เช่นกัน

 

10. สิ่งที่เข้าถึงดาราได้มีอยู่เพียงแค่จดหมาย, อีเมล์, โทรศัพท์ และตามงานคอนเสิร์ตหรือตอนที่ดาราออกกองถ่ายพอดี ไม่เหมือนสมัยนี้ เพียงแค่เปิดIGหรือแฟนเพจ ก็รู้ทั้งเบื้องหน้าและชีวิตส่วนตัวจะครบทุกด้านแล้ว

 

11. การค้นคว้าข้อมูลมาทำรายงานค่อนข้างเป็นงาน “ฝีมือ” เพราะสมัยนั้น google มีฐานข้อมูลไม่มาก ที่มีอยู่ก็เป็นข้อมูลหยาบ ๆ ไม่ลงลึกอะไรเยอะเท่าการค้นตามห้องสมุด ลองมาดูเดี๋ยวนี้สิ มีครบทั้งสื่อวิดีโอ, เว็บไซต์, วิทยานิพนธ์ออนไลน์

 

12. ไม่เพียงแต่ google เท่านั้นที่ตอนนั้นยังไม่ได้น่าเชื่อถือ สื่อออนไลน์อื่น เช่น ฟอร์เวิร์ดเมล์ ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่ข่าวลือ ไม่รู้ที่มาที่ไป ความบันเทิงในรูปแบบ1900ก็หลอกเอาเงินจากเด็กวัยรุ่นไปเยอะเหมือนกัน (หลอกให้กดเบอร์นั้นเบอร์นี้ไปเรื่อยๆอยู่นั่น เมื่อไหร่จะเข้าถึงสาระซะที)

 

13. ประกาศการสอบต่าง ๆ ก็เช่นกัน ยังไม่ค่อยมีให้ดาวน์โหลดเอกสารออนไลน์อย่างในยุคนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการจะเรียนต่อที่ไหน สนใจด้านไหนบ้าง ต้องเข้าห้องแนะแนวบ่อย ๆ เพื่อติดตามข่าวสารอย่างละเอียด

 

14. อยากได้รูปถ่ายต้องอดใจรอสัก 1-2 วันเป็นอย่างต่ำ ถ้าเป็นกล้องฟิล์มก็ต้องรออีกว่าเอาไปล้าง-อัด แล้วร้านจะนัดมารับได้เมื่อไหร่? ถ้าเป็นกล้องดิจิตอลก็ต้องรออีกว่าเมื่อไหร่จะได้อัพโหลด(อัพโหลดทีนึงหน้าสดซะด้วย) แต่เดี๋ยวนี้แชะเดียวก็ได้แล้ว แถมยังออกมาดูดีกว่าตัวจริงซะอีก

 

15. เราไม่มีกูรูแฟชัน ไม่มีบิวตี้บล็อกเกอร์ ไม่มีรีวิวเครื่องสำอางมากมายอย่างในตอนนี้ เพราะฉะนั้น เสื้อผ้าหน้าผมจึงค่อนข้างลองผิดลองถูกเยอะ มิกซ์แต่ไม่แมทช์ ดูตลก ๆ แปลก (ไม่เชื่อลองหยิบรูปถ่ายเด็กวัยรุ่นยุคนั้นมาดูสิ)

 

1ุ6. ยิ่งเป็นรักระยะไกล ยิ่งต้องอดทนต่อกันให้มาก เพราะช่องทางการติดต่อมีแค่จดหมายและโทรศัพท์เท่านั้น ถ้าจะนัดพบกันต้องบอกจุดหมายให้แม่นยำที่สุด เพราะการเดินทางไกลสมัยก่อนมีแค่รถทัวร์และรถไฟ ถ้าเครื่องบินก็มีแค่การบินไทยซึ่งแพงมาก แต่เดี๋ยวนี้สิ สบายใจได้เลย สายการบินlow-costมีตั้งเยอะแยะ ระหว่างที่ไม่ได้นัดพบกันตัวเป็น ๆ ก็วิดีโอคอลหากันก็ยังได้

 

17. ก่อน facebook และ line จะมีบทบาทกับชีวิตคนเรามากขึ้น คนส่วนใหญ่ล้วนแต่เคยผ่านการรอคอยใครสักคนให้ออนmsnพร้อมกัน เคยนั่งแต่งhi5และไดอารี่ออนไลน์นาน ๆ ได้โดยไม่รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ … เคยเปิด-ปิดคอมพ์เป็นเวลาเพื่อสลับโหมดสู่กิจกรรมอื่นในชีวิตจริงบ้าง ก่อนที่เราจะมีชีวิตโลกเสมือนปะปนกับชีวิตจริงในตอนนี้

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: