วันที่ 4 มี.ค. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 6 มี.ค. กระทรวงการคลังจะเสนอชุดมาตรการและและเยียวยาผลกระทบไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 1 วงเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการแจกเงิน โดยจะโอนผ่านพร้อมเพย์ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เงินเดือนน้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร
โดยสามารถกดเงินสด เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ทันที ส่วนจำนวนเงินที่แจกกำลังพิจารณาว่าจะเท่าไหร่ระหว่าง 1,000-2,000 บาท และกำลังพิจารณาว่าจะแจกครั้งเดียวหรือทยอยเป็นรายเดือน เพราะชุดมาตรการต้องการให้มีผลทันทีในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า
“ผู้ที่ร่วมโครงการจะต้องลงทะเบียน เมื่อได้รับโอนเงินก็สามารถกดเป็นเงินสดไปใช้ได้ทันที เพื่อให้เกิดความง่ายในการใช้จ่าย คาดว่าการแจกเงินรอบนี้ จะมีผู้รับประโยชน์มากกว่า 14 ล้านคน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการชิมช้อปใช้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นคนละมาตรการกัน แต่ผู้ถือบัตรบางส่วนที่เข้าเกณฑ์ ก็จะรับการแจกเงินด้วย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4 ต้องชะลอไปก่อน” นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและภาคท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก (ซอฟท์โลน) เพื่อไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการผ่อนปรนให้ธนาคารพาณิชย์สำรองหนี้เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อ
ขณะเดียวกันมีมาตรการภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการ ให้จ้างงานลูกจ้างต่อไป โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการจ้างมาหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 1 เท่า และกรมสรรพากรจะออกประกาศให้ผู้ประกอบการจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย ลดลง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องมากขึ้นรวมทั้งจะมีการตั้งกองทุน เพื่อให้เงินสนับสนุนให้นายจ้างไปจ่ายให้พนักงานที่ต้องหยุดทำงานชั่วคราว
นายอุตตม กล่าวว่า ชุดมาตรการที่จะออกมา จะมีมาตรการช่วยเหลือตลาดทุนด้วย เพราะได้รับผลกระทบจากไวรัสและเศรษฐกิจชะลอตัว โดยตอนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พิจารณาปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SFF) ให้เหมือนกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือตลาดทุนที่ดัชนีซื้อขายตกลงมาก ส่วนจะเพิ่มวงเงินลงทุนได้ 5 แสนบาท และระยะเวลาการถือครอง 7 รอบบัญชีเหมือนเดิมหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นมาตรการชั่วคราว
นายอุตตม กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายการเงิน ที่ผ่านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ในส่วนของประเทศไทย ธปท. ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นอำนาจของ ธปท.ที่จะตัดสินใจว่าจะปรับลดดอกเบี้ยเร่งด่วนหรือไม่ ที่ขณะนี้อยู่ในระดับ 1% ซึ่งที่ผ่านมาคลังได้หารือใกล้ชิด การออกมาตรการครั้งนี้ ก็ได้ให้ ธปท.เข้าหารือด้วยเพื่อให้เห็นภาพรวมชุดมาตรการทั้งหมดว่าคลังจะดำเนินมาตรการอะไรบ้าง เพื่อให้ธปท.ไปพิจารณาว่าจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร ก่อนการประชุคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ซึ่งตอนนี้ ธปท.ก็ทำงานเรื่องนี้ต่อเนื่อง
“ผมได้เน้นกับปลัดกระทรวงการคลังแล้ว ว่ามาตรการทั้งหมดเมื่อผ่าน ครม.เศรษฐกิจและ ครม.ในสัปดาห์หน้า มาตรการทั้งหมดจะต้องมีผลในทางปฏิบัติทันที ซึ่งมาตรการนี้จะมีผล 3-4 เดือน ไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ส่วนผลกระทบมาตรการไวรัสโคโรนาจะไปจบเมื่อไหร่ เราไม่สามารถตอบได้ เราจึงออกมาตรการดูแลชุดที่ 1 ซึ่งหมายความว่ามีความพร้อมจะออกมาตรการชุดที่ 2 และ 3 ทันที หากเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น”นายอุตตมกล่าว
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ