“บิ๊กป้อม “นั่งหัวโต๊ะ เร่งจัดสรรงบกลางแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วนเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค พ่วงโครงการเร่งด่วนเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ให้แล้วเสร็จภายใน มิ.ย.นี้
วันที่16 มีนาคม 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2563 ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ มีมติเห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการจาก 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1.โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค (เพิ่มเติม) ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปา สอดคล้องกับแผนแม่บททรัพยากรน้ำ 20 ปี
ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค รวม 6 แห่ง ได้แก่ 1) กปภ.สาขาเพชรบูรณ์ – หล่มสัก 2) กปภ.สาขาเดิมบางนางบวช 3) กปภ.สาขาสมุทรสาคร – นครปฐม 4) กปภ.สาขาด่านช้าง 5) ปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ.สาขานครศรีธรรมราช ในพื้นที่ อบต.ท่าเรือ และ 6) ปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ.สาขานครศรีธรรมราช ในพื้นที่เทศบาล ต.การะเกด โดยเมื่อโครงการก่อสร้างทั้ง 6 แห่งแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตประปาเพิ่มขึ้นอีก 475,200 ลูกบาศก์เมตร/วัน ให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 126,750 ราย 2.แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง
สอดคล้องกับแผนแม่บททรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีเป้าหมายเพื่อจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และลดความเสียหายจากน้ำท่วมให้กับประชาชน ครอบคลุม 76 จังหวัด 309 อำเภอ 715 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10.50 ล้านไร่ มีผู้ได้รับประโยชน์ 7.82 ล้านครัวเรือน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 166 ชุมชน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 750,000 ไร่ มีผู้ได้รับประโยชน์ 1.30 ล้านครัวเรือน คงเหลือพื้นที่ชุมชนที่ต้องดำเนินการอีก 549 ชุมชน โดยจัดลำดับตามความสำคัญตามเกณฑ์ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม
ประกอบด้วย 1. ความสำคัญของชุมชน เช่น จำนวนประชากร ความหนาแน่นในชุมชน 2. ความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ 3. ความรุนแรง และความถี่ของปัญหาน้ำท่วม 4. ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมทั้งจัดลำดับเป็นระยะเร่งด่วน สั้น กลาง ยาว เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกรอบเวลาของแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ดังนี้ 1) ระยะเร่งด่วน จำนวน 52 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 260,000 ไร่ 2) ระยะกลาง จำนวน 157 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 360,000 ไร่ และ 3) ระยะยาว จำนวน 340 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 9.13 ล้านไร่ โดยทั้งสองโครงการข้างต้นจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติขับเคลื่อนแผนงานโครงการต่อไป
สำหรับที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการฯน้ำ ได้มีมติเห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2563 โดยแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 (ระหว่าง 1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2563) จะจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและพืชต่อเนื่อง รวมจำนวน 1,656 ล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนของพื้นที่การเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำนั้น จากการคาดการณ์ของกรมชลประทานจะมีปริมาณน้ำคงเหลือในช่วงฝนทิ้งช่วงเพียง 436 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกในพื้นที่เป้าหมาย 265,000 ไร่ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2560 เท่านั้น
โดยจัดสรรน้ำแบ่งเป็น ช่วงที่ 1 เดือนมี.ค.- 30 เม.ย. ประมาณ 65 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วงที่ 2 เดือน พ.ค. ถึง ก.ค. 2563 ประมาณ 245 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ทันเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และทำหน้าที่เป็นทุ่งหน่วงน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยบริหารจัดการร่วมกับพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งทางตอนล่างด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานจังหวัดในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 13 จังหวัด ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้ทราบอย่างทั่วถึงด้วย
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งได้กำหนดมาตรการและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือภาวะเสี่ยงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนี้ 1.) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ มควบคุมการปลูกพืชฤดูแล้ง ใน/นอกเขตชลประทาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค
2) ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยควบคุมการจัดสรรน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ และป่าสักฯ ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำ 3) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ใน/นอกเขตชลประทาน ทั้งที่ปลูกแล้วและคาดว่าจะได้รับผลกระทบ 4) ให้กรมชลประทาน การประปานครหลวง และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ติดตามวิเคราะห์ผลการให้ผันน้ำจากฝั่งตะวันตกเพื่อผลักดันน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา และการดำเนินการตามมาตรการควบคุมความเค็มและการเพิ่มศักยภาพการลำเลียงน้ำในคลองประปา โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งดำเนินการตามมติของคณะทำงานฯ โดยเร็ว
ขณะเดียวกัน รองนายกฯ ยังเน้นย้ำให้หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบกลางแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วนเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และที่เสนอโครงการเร่งด่วนเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 เร่งรัดดำเนินการโดยเร็วให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 และติดตามช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน และควบคุม สถานการณ์ปัญหาน้ำแล้ง ไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความเสียหายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง และทันเวลาด้วย
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ