กรมบัญชีกลาง ออกหลักเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน-นอก โรงพยาบาลของราชการ กรณีคนในครอบครัวเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จ่ายค่าตรวจตามจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง ค่าห้องพักไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน
20 มี.ค.63 นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อฌคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) โดยหลักเกณฑ์นี้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หากแพทย์ผู้รักษาได้ดำเนินการสอบสวนโรคแล้ว มีความเห็นว่า ต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่า ติดเชื้อโควิด-19 ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองและบุคคลในครอบครัว ดังนี้
1.ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Real time PCR หรือเทคนิคอื่นๆ ซึ่งรวมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้งและ2.ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล สำหรับบุคลากรที่ต้องถูกเก็บตัวอย่าง ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 540 บาท ต่อครั้ง
ส่วนผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่า ติดโควิด-19 ในกรณีที่สถานพยาบาลของทางราชการรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน ให้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม ดังนี้ 1.ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Real time PCR หรือเทคนิคอื่น ๆ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้งและค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ ค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษา ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 540 บาท ต่อวัน
2.ค่าห้องพักสำหรับควบคุมดูแลรักษา ในอัตราจ่ายจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน และ 3. ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,200 บาท และ4.ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ในอัตราจ่ายเกินจริงไม่เกิน 740 บาท ต่อชุด คือ กรณีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่เกินจำนวน 15 ชุดต่อวัน และกรณีอาการรุนแรง ไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน
ขณะที่ กรณีสถานพยาบาลของทางราชมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปเข้ารับการรัษาพยาบาลต่อเนื่องเป็นผู้ป่วยใน ณ สถานพยาบาลของทางราชการแห่งอื่น จะมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลนอกเหนือจากค่าพาหนะส่งต่อ รายการค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และค่าบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,700 บาท ต่อครั้งที่มีการส่งต่อ
“การเบิกค่ารักษาพยาบาลตามหลักเกณฑ์นี้ ให้สถานพยาบาลของทางราชการเป็นผู้เบิกแทนผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงเท่านั้น รวมถึง กรณีที่สถานพยาบาลของทางราชการไม่อาจให้การตรวจทางห้องปฏิบัติการได้และมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยหรือเก็บตัวอย่างไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ สถานที่อื่นด้วย สำหรับวิธีการส่งข้อมูลให้เป็นไปตามที่หน่วยงานที่กรมบัญชีกลางมอบหมายให้ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลเป็นผู้กำหนด”
ส่วนการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยนอกกรณีทั่วไป ให้ยกเว้นการแสดงตนของผู้ป่วย เพื่อทำธุรกรรมผ่านเครื่องรับรายการอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) โดยให้สถานพยาบาลของทางราชการดำเนินการภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ 1.เป็นผู้ป่วยเก่าของสถานพยาบาลที่รับยาอย่างต่อเนื่อง 2. จัดให้มีช่องทางการสื่อสารระหว่างแพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วย เพื่อสั่งการรักษา ชักประวัติ หรือสอบถามอาการจากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วย และบันทึกข้อมูลการรักษาพยาบาลในเวชระเบียน 3.ให้กำหนดประเภทของยาโดยคำนึงถึงคุณภาพ วิธีการใช้ ปริมาณที่เหมาะสม และปลอดภัยกับผู้ป่วย 4. การจัดส่งยาให้ใช้ระบบไปรษณีย์ตอบรับปลายทางเท่านั้น และ5. การทำธุรกรรมเบิกค่ารักษาพยาบาลให้ดำเนินการผ่านระบบ KTB Corporate Online โดยบันทึกเหตุผลว่า “ส่งยา”
ทั้งนี้ ในระหว่างยังไม่ได้พัฒนาระบบเพื่อยืนยันการรับยาของผู้ป่วย ณ สถานที่แห่งอื่น ซึ่งมิใช่สถานพยาบาล ให้ใช้เลข Approval Code จากระบบ KTB Corporate Online เพื่อประกอบการเบิกค่ารักษาพยาบาล โดยที่กรมบัญชีกลางจะกำหนดแนวทางการรับยา ณ สถานที่แห่งอื่น ให้ทราบและถือปฏิบัติต่อไป ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนหลักเกณฑ์นี้มีผลใช้บังคับ สถานพยาบาลของทางราชการอาจขอรับค่ารักษาพยาบาลบางรายการตามหลักเกณฑ์ อัตรา วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ