เมื่อเห็นข่าวแต่งงานของคนอื่น เรามักคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เป็นชีวิตที่น่าใฝ่ฝัน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าการสร้างครอบครัวด้วยกันนั้น มากยากกว่าการเป็นแฟนกันเยอะ และจะยากกว่าหลายเท่าเมื่อมีลูกด้วยกันแล้ว
เพราะอะไร? นี่คือข้อควรคำนึงสำหรับหนุ่มสาวทั้งหลาย ที่ต้องการขยับคำว่าแฟน มาเป็นสามีภรรยากัน มาอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน มันไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะยากมากจนทำไม่ได้เลย
1. การเป็นครอบครัวเดียวกัน หมายความว่าคุณต้องแชร์กันทุกเรื่อง
การเป็นแฟนกันอย่างมากก็แค่รับฟังปัญหา และช่วยในบางส่วนที่พอจะช่วยกันได้ แต่การตบแต่งกันจนเป็นครอบครัวใหม่ นั่นก็หมายความว่าต่างฝ่าย ต่างต้องสลายความเป็นส่วนตัวให้มาก และคิดถึงส่วนรวมให้มาก ตั้งแต่เรื่องค่าใช้จ่าย, ปัญหาส่วนตัว, ไปจนถึงการโอบอุ้มพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่นับถือของแต่ละฝ่ายด้วย และอาจรวมไปถึงลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมาใหม่ ที่สองสามีภรรยาจะต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย ภาระโดยรวมแค่คนเดียวคงทำได้ไม่ไหว หรือทำได้ก็คงไม่ดีพอแน่นอน
2. บางครั้งปัญหาก็ไม่ได้มีแค่สองคน
การยินยอมพร้อมใจกันเป็นครอบครัวใหม่ ใช่ว่าคุณจะตัดขาดจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดหรือญาติผู้ใหญ่ที่เคยอุปการะได้เสียทีเดียว บางครั้งตอนที่คนสองคนไม่มีปัญหา ท่าน ๆ ทั้งหลายก็จะหวังดีเข้ามาสอดส่องความเรียบร้อยกันบ้าง หรือบางครั้งที่ตัวท่าน ๆ ทั้งหลายมีปัญหาเสียเอง คนสองคนจะใจไม้ไส้ระกำไม่ดูดำดูดีก็กระไรอยู่ รักครอบครัวของตัวเองมากขนาดไหน ก็อย่าลืมเผื่อแผ่ความรักไปยังญาติผู้ใหญ่แต่ละฝ่ายด้วย อะไรที่พอจะดูแลได้ก็ทำไป ถ้าไม่ไหวก็แค่ปรึกษาและหาทางออกร่วมกัน
3. การเป็นครอบครัวเดียวกันไม่จำเป็นต้องเริ่มที่งานแต่งสวยหรู
งานแต่งงานก็แค่พิธีการอย่างหนึ่ง จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าถึงกับต้องกู้เงินมาจัดงาน แล้วหนี้บานให้ทยอยใช้ทีหลังก็เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ จัดงานให้สมฐานะได้ แต่อย่าเกินฐานะ
4. การเป็นครอบครัวเดียวกัน ต้องชัดเจนกับทางกฎหมาย
ไม่ว่าจะใบสมรส, การทำธุรกรรมต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะมาเหยาะแหยะเหมือนตอนเป็นแฟนกันที่สนุกกันไปวัน ๆ ไม่ได้แล้ว เพราะต่อจากนี้ไปคือการใช้ชีวิตบนความมั่นคง บนทางเดินที่สร้างเพื่อปัจจุบันและอนาคต ถ้าอยู่โดยไม่ทำให้ชัดเจนกันซักอย่างทางกฎหมาย วันหนึ่งหากเลิกกันหรือคนใดคนหนึ่งตายจากกันไปจะวุ่นวายกว่านี้หลายเท่าตัวแน่นอน
5. เงินเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ไม่สำคัญเท่าชีวิต
เป็นเรื่องดีหากวัยกำลังหนุ่มกำลังสาวจะช่วยกันทำงานหาเงินเข้าบ้าน แต่ควรประมาณตนเองด้วยว่าสุขภาพอยู่ในระดับใด (มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง? ต้องการเวลาพักผ่อนแค่ไหน?) และควรหาวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในบ้านบ้าง ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะโหมงานให้หนักจนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว หากวันใดเกิดล้มป่วยหรือเสียชีวิตขึ้นมา คนที่ยังอยู่นั่นแหละจะลำบากมากกว่าสบายเพราะเงินสะสมและเงินชดเชย
6. อย่าเพิ่งมีลูก ถ้ายังไม่สามารถบริหารเงินได้ดี
ถ้าคุณยังไม่สามารถจัดการกับหนี้สินของสองสามีภรรยาที่กองรวมกัน ไม่ว่าจะค่าบ้าน, ค่ารถ, ค่าอุปการะพ่อแม่, ค่าบัตรเครดิต, หรือการกู้ยืมต่าง ๆ อย่าเพิ่งมีเจ้าตัวน้อยสักคนเลย คุมกำเนิดไปก่อนเถอะ เพราะเพียงแค่เด็กคนเดียวค่าใช้จ่ายก็เริ่มมีตั้งแต่ที่เขาเกิดมาแล้ว ไหนจะค่าฝากครรภ์, ค่าทำคลอด, ค่านม(กรณีที่เด็กทานนมแม่ไม่ได้), ค่าตรวจสุขภาพ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่ต้องส่งเสียไปจนโต นับรวมหลายปีแล้วก็ถือว่าเป็นภาระหนักอึ้งอีกเช่นกัน ไม่นับกับการอบรมเลี้ยงดูที่คนเป็นพ่อแม่ต้องให้การอบรมและความใกล้ชิดด้วยจึงจะเติบโตมาเป็นพลเมืองมีคุณภาพได้
7. วางแผนอนาคตให้รอบด้าน แต่ก็ควรมีความยืดหยุ่นด้วย
เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจริงจังและเครียดพอสมควร ถ้าต้องคิดถึงอนาคตมากกว่าวันนี้พรุ่งนี้ มากกว่าแค่ฉันและเธอ ต้องเริ่มบริหารรายรับ-รายจ่ายแต่ละเดือน, ลงทุนต่อยอดรายได้, ต้องนึกถึงการกู้ยืมเพื่อบ้าน-รถ, ต้องนึกถึงประกันภัย, นึกถึงกองทุนเพื่อลูก ฯลฯ เอาแบบที่สบาย ๆ และพอจัดการได้ไหว อย่าตึงเครียดมากไปจนอึดอัด การเป็นครอบครัวเดียวกัน สิ่งสำคัญคือต้องจับมือกันฝ่าฟันปัญหา แต่ไม่บีบมือกันจนต้องเจ็บทั้งสองฝ่าย
8. ลด ละ เลิก สิ่งที่บั่นทอนสุขภาพและการเงิน
เหล้า, บุหรี่, การพนัน เลิกได้ก็ควรเลิกเพื่อให้ครอบครัวมีเงินเก็บมากกว่านี้ ที่สำคัญก็คือเพื่อให้อยู่เป็นที่รัก เป็นกำลังใจของครอบครัวไปอีกนานแสนนาน
9. ผูกมิตรให้เยอะ อย่าสร้างศัตรูให้มาก
อย่าชักศึกเข้าบ้านด้วยความเลือดร้อนอย่างตอนเป็นโสดหรือตอนเป็นแฟนกัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณสร้างปัญหาจากนอกบ้าน ก็ไม่ได้แปลว่าเรื่องจะกองนอกบ้านอยู่อย่างนั้นเสมอไป ตรงกันข้าม ในบางทีคุณอาจต้องเสียทรัพย์สินในบ้านและชีวิตคนรักที่ต้องมารับเคราะห์แทนด้วย อะไรยอมได้ก็ยอม อะไรที่เลี่ยงได้ก็เลี่ยง พับนิสัยนักเลงเก็บไว้บ้างเพื่อบ้านและสวัสดิภาพของคนในบ้าน
10. จับมือกันไว้ไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใดก็ตาม
งอนให้น้อยลง สร้างปัญหาระหว่างกันให้น้อยลง กอดกันและจับมือกันให้มากขึ้น เพราะการใช้ชีวิตเป็นครอบครัวเดียวกันนั่นแปลว่าทุกวันทุกเวลาคุณจะต้องอยู่ด้วยกัน ต่อให้วันต่อไปอีกคนร่างกายจะเสื่อมโทรม เจอปัญหานอกบ้านสารพัดโหมใส่ เจอเรื่องที่แย่ที่สุดในชีวิต ไม่ต้องถึงกับสัญญาแต่ขอให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า “ผม/ชั้นจะอยู่ตรงนี้นะ ไม่หนีไปไหนหรอก” มันก็เพียงพอสำหรับการสร้างบ้านที่อบอุ่นแล้ว
คำว่าครอบครัว มักจะยิ่งใหญ่กว่าคำว่าคู่ชีวิตเสมอ
อยากให้ครอบครัวเป็นไปในทิศทางไหน อยู่ที่คนสองคนว่าจะเลือกสร้างมันอย่างไร แค่นั้นเอง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ