ในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างก็วิตกกังวลอย่างการเกิดโรคระบาดใหญ่ อาจทำให้หลายคนหันมาผ่อนคลายตัวเองด้วยพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นการกินมันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต หรือดื่มไวน์มากขึ้น แต่พฤติกรรมคลายเครียดอย่างหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญต้องเตือนให้ระมัดระวังในขณะนี้ คือการสูบบุหรี่หรือกัญชา เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อปอด ทำให้ปอดถูกทำลายได้ง่ายขึ้นเมื่อติดเชื้อไวรัส ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ลดปริมาณการสูบ หรือเลิกสูบเลยจะดีที่สุด
ดร.โจนาธาน วินิคคอฟ ผู้อำนวยการการวิจัยด้านกุมารเวชศาสตร์ จากศูนย์วิจัยยาสูบและการรักษาโรค โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล กล่าวว่า “การเลิกสูบยาสูบต่างๆ ไม่เพียงแต่จะช่วยรักษาชีวิตของคุณเท่านั้น แต่ยังทำให้คุณไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตของผู้อื่นด้วย”
เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ดร.วินิคคอฟ ร่วมกับมอรา ฮีลลีย์ อัยการสูงสุดของแมสซาชูเซตส์ ได้ออกแถลงการณ์เตือนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ว่าการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือกัญชา มีความเสี่ยงที่จะทำให้การแพร่กระจายของ COVID-19 รุนแรงขึ้น
“การสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าโดยการสูดควันเข้าไปทางปากซ้ำๆ มือของคุณสัมผัสกับอุปกรณ์สูบ จากนั้นก็สัมผัสใบหน้าของตัวเอง คุณกำลังทำให้เชื้อโรคในมือเข้าสู่ร่างกาย ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ผมรักษาอยู่ ซึ่งเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ ก็มีอาการไอและถ่มเสมหะหรือน้ำลายมากขึ้น นั่นก็เป็นการแพร่เชื้อเพิ่มอีกเช่นกัน” ดร.วินิคคอฟอธิบาย
งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การสูบบุหรี่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอและลดทอนการทำงานของปอด ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อร่างกายนั้นยังมีจำนวนจำกัด เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวยังเป็นของใหม่ แต่การศึกษาหลายชิ้นก็แสดงให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะก่อให้เกิดการอักเสบในทางเดินหายในและปอด
ส่วนยาสูบรสชาติต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นก็สามารถทำให้การติดเชื้อในปอดรุนแรงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ซึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนา อาจจะต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในการเอาชีวิตรอด นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยในหนูยังพบว่า หนูที่สูดควันจากบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความอ่อนไหวต่อการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียมากกว่าปกติ
การวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine พบว่า ผู้ป่วย COVID-19 ชาวจีนที่สูบบุหรี่จะมีอาการติดเชื้อหนักกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ โดยสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาของผู้สูบบุหรี่ คือการที่เชื้อไวรัสเข้าทำลายร่างกายโดยการยึดเกาะกับตัวรับที่เรียกว่า แอนจิโอเท็นซิน-คอนเวิร์ตติง เอนไซม์-2 หรือ ACE-2 โดยยาสูบจะเพิ่มการแสดงออกของ ACE-2 ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่แพทย์และนักวิจัยคาดการณ์ว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะติดเชื้อไวรัสมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ
นอกจากนี้ ดร.วินิคคอฟกล่าวว่าการสูบกัญชาก็สามารถทำลายปอดและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อไวรัสอย่างรุนแรง รวมทั้งมีผลต่อความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้
“อากาศที่สะอาดต่างหากที่เราควรสูดเข้าไปในปอด โดยเฉพาะในภาวะโรคระบาดใหญ่นี้” ดร.วินิคคอฟกล่าว
ข้อมูล :The New York Times, sanook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ