เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังต้องหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากยังมีอีกหลายตัวเลขที่ต้องคุยกันให้ได้ข้อยุติก่อน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้สรุปตัวเลขสำคัญที่จะดำเนินการ ทั้งวงเงินที่จะจ่ายให้เกษตรกรว่าจะจ่ายเท่าไหร่ จ่ายอย่างไร จะจ่ายครั้งเดียวหรือทยอยจ่าย โดยมีการหารือกันเพียงว่าเกษตรกรกลุ่มไหนบ้างที่จะเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา และจะใช้เกณฑ์อะไรในการประเมิน โดยการจ่ายเงินเยียวยาในครั้งนี้ เป็นการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
สำหรับมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกร ยังมีเวลาในการพิจารณาอีกมาก เพราะมาตรการจะเริ่มดำเนินการได้ภายหลังจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้ และจะต้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาพิจารณาโครงการต่างๆ ก่อน ดังนั้นมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกรนี้จะมีผลช้าหรือเร็ว จึงขึ้นอยู่กับการกู้เงินว่าจะผ่านเมื่อไหร่ เพราะวงเงินที่ใช้ดำเนินการมาจากการใช้เงินกู้ทั้งหมด
ระหว่างนี้กระทรวงการคลัง และธ.ก.ส. ต้องมาเตรียมข้อมูลว่าจะช่วยเกษตรกรอย่างไรบ้าง เพราะมีข้อมูลหลายส่วน โดยจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และทุกส่วนงานที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมาร่วมหารือ ในวันอังคารที่ 14 เม.ย.นี้ เบื้องต้นประเมินว่ามีเกษตรกรที่เข้าข่าย 8.5 ล้านครอบครัว และหลักการที่จะจ่ายเงิน จะจ่ายเป็นครอบครัว
นายอภิรมย์ กล่าวว่า ที่ประชุมสรุปแนวทางชัดเจนแล้วว่า จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือน ส่วนวงเงินที่จ่ายจะเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อครอบครัวหรือไม่ ยังต้องไปหารือในรายละเอียด รวมทั้งหลักการจะต้องไม่มีการจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน โดยหากได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากอาชีพอิสระไปแล้ว ก็อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้อีก
“กระทรวงการคลังต้องการช่วยเป็นครอบครัว เช่น ถ้าสามีไปปลูกข้าว ภรรยาไปปลูกอ้อยก็จะได้เพียง 1 สิทธิ์ หลักการจะเป็นแบบนี้ แต่รายละเอียดยังไม่ได้มีการสรุป หรือถ้าลูกไปปลูกข้าว แต่มีทะเบียนบ้านคนละหลัง ก็จะได้รับสิทธิ์ด้วย ต้องไปดูรายละเอียดของครอบครัว ซึ่งจะต้องอิงข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยเป็นหลักด้วย โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหาแนวทางอ้างอิงว่าจะวัดจากอะไร จะอิงตามที่เกษตรกรบอก หรืออิงตามข้อมูลของมหาดไทย ทั้งหมดยังไม่ได้สรุป แต่ที่ชัดเจนแล้วคือจะช่วยเหลือเกษตรกรทุกกลุ่ม 8.5 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นการตัดยอดจากที่กระทรวงเกษตรมีการขึ้นทะเบียนทุกปี และการแจกเงินจะใช้หลักเกณฑ์เท่าเทียมและยุติธรรม” นายอภิรมย์ กล่าว
นายอภิรมย์ กล่าวว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือเป็นครอบครัว เพราะเกษตรกรในแต่ละกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลเฉพาะอยู่แล้ว และถ้าช่วยเป็นรายคนก็จะซ้ำซ้อนกับมาตรการอื่น แต่การช่วยเป็นรายครอบครัวจะตอบโจทย์ผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะครัวเรือนจะกลับมาอยู่ที่บ้าน ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การช่วยตรงนี้จะเป็นการเยียวยาระยะสั้น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ