เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) แหล่งข่างกองทัพบก กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารของกรมสรรพาวุธ เกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการจัดซื้อรถยานเกราะสไตร์เกอร์ ติดอาวุธ 50 คันด้วยงบประมาณ 4.5 พันล้าน เป็นการจัดซื้อตามโครงการความช่วยเหลือทางการทหาร Foreign Military Sales -FMS จากสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงวิพากวิจารณ์ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ขอให้ กองทัพ ตัดงบประมาณ ปี 2563 เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบโควิด-19
แหล่งข่าวกองทัพบก กล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ตัดงบประมาณปี 2563 ของกองทัพบกแล้วกว่า 20% ตามที่รัฐบาล สั่งให้นำเงินคืนคลัง เพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณมา ช่วยแก้ปัญหาจากโควิด-19 โดยมีการชะลอโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ไปหลายโครงการ
โดยเฉพาะได้ชะลอการจัดซื้อรถยานเกราะสไตร์เกอร์ ที่เดิมทีเป็นโครงการในปีงบประมาณ 2563 ไปเป็นโครงการของปีงบประมาณปี 2564 และงบประมาณปี 2565 ส่วนกรณีประกาศที่กรมสรรพาวุธออกมาเผยแพร่ดังกล่าวนั้นเป็นเพียงแผนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของปี 2563 ไม่ใช่การใช้งบฯปี 2563
สำหรับเหตุผลที่ไม่สามารถยกเลิก โครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยางStryker จำนวน 50 คันได้นั้น แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุว่า เพราะเป็นโครงการต่อเนื่องและเป็นการจัดซื้อระบบ FMS เป็นไปตามความช่วยเหลือทางทหารกับสหรัฐอเมริกาที่เข้า สภาคองเกรสของสหรัฐเรียบร้อยแล้ว และ จัดซื้อรถเกราะสไตร์เกอร์ 50 คันแต่ทางสหรัฐฯให้เพิ่มอีก 30 คัน รวมทั้งโครงการกองทัพบกจะได้รถเกราะจำนวนกว่า 130 คัน เมื่อรวมกับที่สหรัฐฯให้ความข่วยเหลือเพิ่มเติมในฐานะที่ไทยกับสหรัฐมีความสัมพันธ์อันดีทางทหารมายาวนาน จึงได้รับการช่วยเหลือทั้ง รถเกราะ รถติดปืน ค.120 มม. รถพยาบาล , รถผู้บังคับบัญชา และ รถโดยลาดตระเวนจึงต้องเดินหน้าโครงการต่อ รวมถึงโครงการนี้ผ่านการอนุมัติจากครม.ไปแล้ว
“ขอยืนยันว่าโครงการจัดซื้อรถเกราะเป็นไปอย่างโปร่งใส และดีที่สุด และเป็นไปเพราะความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพไทยกับสหรัฐฯ” แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ