“แบงก์ชาติ” เผยงบปี62 ติดลบ 3แสนล้าน พิษเงินบาทแข็ง ทำขาดทุนทางบัญชี





ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดงบการเงินของธปท. โดยระบุว่า ปี 2562 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ ทั่วโลก

รวมทั้งธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักกลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินสกุลหลักอ่อนค่าลง นอกจากนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระดับสูง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเข้าดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2.59 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2562 จาก 2.39 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2561

ทั้งนี้ ธปท. บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยมุ่งรักษามูลค่าในรูปเงินตราต่างประเทศเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอและพร้อมใช้ โดยกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง และกระจายความเสี่ยงทั้งในรูปของสินทรัพย์และสกุลเงิน ในปี 2562 ผลการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ

โดยได้ผลตอบแทนในสกุลเงินต่างประเทศเป็นบวกและสูงกว่าอัตราผลตอบแทนอ้างอิง (benchmark return) และมีรายรับดอกเบี้ยจากการบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศสูงกว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายในการดำเนินนโยบายการเงิน (positive carry) ด้วย

แต่การแข็งค่าของเงินบาท ทำให้เกิดผลขาดทุนทางบัญชีจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเงินบาท รวมทั้งในปี 2562 ธปท. ปรับวิธีการบันทึกบัญชีของตราสารอนุพันธ์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้รองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ทำให้เกิดผลขาดทุนจากการปรับมาตรฐานบัญชีด้วยอีกส่วนหนึ่ง

โดยทำให้ ผลการดำเนินงานของ ธปท. ที่ผ่านมา มีทั้งขาดทุนและกำไรขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเป็นสำคัญ เช่น ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ค่าเงินบาทอ่อนค่าจาก 30.1 บาท ต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2562 เป็น 32.7 บาท ต่อดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ส่งผลให้ ธปท. มีกำไรสุทธิ 3.65 แสนล้านบาท แต่ผลขาดทุนหรือกำไรที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของ ธปท. แต่อย่างใด

สำหรับงบการเงินของบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2562 มีผลขาดทุนรวม 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน สาเหตุหลักจากการขาดทุนทางบัญชีจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศ (valuation หรือ unrealized loss) เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้น7.62 % เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในขณะที่รายรับดอกเบี้ยจากการบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศสูงกว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายในการดำเนินนโยบายการเงิน (positive carry) ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง

รายละเอียดดังนี้

1. การดำเนินงานตามพันธกิจด้านการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในปี 2562 มีรายรับดอกเบี้ยสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากดอกเบี้ยรับจากการบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศที่สูงกว่าดอกเบี้ยจ่ายจากการดำเนินนโยบายการเงิน

2. การตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศ (valuation) ขาดทุนสุทธิ 1.88 หมื่นล้านบาท เป็นการขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินบาท จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักทุกสกุล

3. การปรับสัดส่วนการลงทุน (portfolio investment) และอื่น ๆ ขาดทุนสุทธิ 1.26 แสนล้านบาท เป็นการขาดทุนที่เกิดจากการซื้อขายตราสารเพื่อปรับการลงทุนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

โดยผลขาดทุนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากค่าเงินบาทโน้มแข็งค่าต่อเนื่องมาตลอด ทำให้สินทรัพย์ต่างประเทศที่ซื้อมาเมื่อหลายปีก่อนมีต้นทุนในรูปของเงินบาทสูงกว่าราคาขายสินทรัพย์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ผลการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศในสกุลเงินต่างประเทศเป็นบวกและสูงกว่าอัตราผลตอบแทนอ้างอิง (benchmark return)

นอกจากนี้ ในปี 2562 ธปท. ปรับวิธีการบันทึกบัญชีของตราสารอนุพันธ์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้เกิดผลขาดทุนประมาณ 7.0 หมื่นล้านบาท

ด้านงบการเงินของบัญชีทุนสำรองเงินตราในปี 2562 งบการเงินของบัญชีทุนสำรองเงินตรา ขาดทุนสุทธิ 8.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศในบัญชีทุนสำรองเงินตราเป็นเงินบาท ในขณะที่ผลตอบแทนจากการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศที่ใช้หนุนหลังธนบัตรเป็นบวกและสูงกว่าอัตราผลตอบแทนอ้างอิง (benchmark return)

สรุปแล้ว เมื่อรวมผลขาดทุน จากงบการเงินของบัญชีธปท. ปี 2562 ที่ 3แสนล้านบาท ทำให้ ขณะนี้ ธปท.มีขาดทุนสะสมรวมอยู่ที่ 1.06 ล้านล้านบาท

โดย ผลกระทบของการขาดทุนต่อการดำเนินพันธกิจของธนาคารกลาง ส่วนใหญ่เกิดจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเงินบาท ในขณะที่การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะรักษามูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศให้เพียงพอไว้เป็นกันชนรองรับความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก รักษาอำนาจซื้อในตลาดโลก (global purchasing power) ของระบบเศรษฐกิจ และเงินสำรองระหว่างประเทศให้มีสภาพคล่องเพียงพอพร้อมใช้ในกรณีที่จำเป็น รวมถึงหนุนหลังธนบัตรออกใช้ ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับมูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศในสกุลเงินต่างประเทศ มากกว่าการตีราคากลับมาเป็นสกุลเงินบาท

หากดู ผลการศึกษาทางวิชาการจากประสบการณ์ของธนาคารกลางหลากหลายประเทศชี้ว่า หากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางมีเหตุมีผลและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลขาดทุนของธนาคารกลางไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานตามพันธกิจของธนาคารกลาง โดยเฉพาะถ้าผลขาดทุนส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนทางบัญชี ที่เกิดขึ้นจากการตีราคาตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

ซึ่งในกรณีของ ธปท. แม้งบการเงินของปีที่ผ่านมารายงานผลการดำเนินงานขาดทุน แต่ ธปท. ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากตลาดการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้องมาโดยต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 2563 ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลง 8.3 % เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ส่งผลให้ ธปท. มีกำไรสุทธิสูงถึง 3.65 แสนล้านบาท ผลกำไรที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีผลต่อความสามารถในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของ ธปท. แต่อย่างใด

ข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: