สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายง่ายๆ เพราะยอดติดเชื้อทั่วโลกพุ่งเกือบทะลุ 3 ล้านคนเข้าไปแล้ว
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังคงประกาศมาตรการออกมาเพื่อรับมือ และยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สำหรับประเทศไทย คาดว่ารัฐบาลจะขยายเวลาในการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศใช้เคอร์ฟิว ซึ่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.ออกไปอีก จากเดิมที่มาตรการเคอร์ฟิวมีผลถึงวันที่ 30 เมษายน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดในระยะที่ 2
ส่งผลให้ภาคส่วนต่างๆ ต้องปรับวิธีการทำงาน และการจัดการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่นอกจากจะประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม จากเดิมที่เปิดวันที่ 18 พฤษภาคม
นอกจากจะเลื่อนเปิดเทอมแล้ว ศธ.ได้เตรียมการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มารองรับ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย โดย ศธ.ได้แบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มปฐมวัย กลุ่มนักเรียนระดับชั้น ป.1-ม.3 และกลุ่มนักเรียน ม.4-6
ซึ่งการจัดการเรียนการสอนจะใช้ระบบ “ออนแอร์” หรือสอนตามทีวีเป็นหลัก โดยประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอช่องทีวีดิจิทัลเพื่อสอนนักเรียน จำนวน 17 ช่อง และระบบการศึกษาทางไกลผ่านออนไลน์ ซึ่งจะครอบคลุมทุกหลักสูตรการเรียนรู้ และกลุ่มสาระวิชาหลัก โดยส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดเนื้อการเรียนการสอน
ช่องทีวีดิจิทัลนี้ จะครอบคลุมการเรียนการสอนของนักเรียนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้เรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ด้วย
โดยจะแบ่งระยะเวลาดำเนินการ ดังนี้ การทดสอบจริงก่อนเปิดเทอม วันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน และการสอนจริง ในวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 พฤศจิกายน
โดยระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายนนี้ จะเป็นการทดสอบระบบ และตรวจสอบ ว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคของการจัดการเรียนบ้าง ซึ่ง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 10-15% ที่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์
นายณัฏฐพล ระบุว่า เบื้องต้น ศธ.หาทางแนวทางแก้ไข โดยแบ่งการเรียนการสอน 2 ส่วน คือ ข้อมูลสาระการเรียนที่มาจากส่วนกลาง 80% และปรับการเรียนการสอนในแต่ละพื้นที่ 20% เช่น ในพื้นที่โรงเรียนห่างไกล อาจมีครูไปรับ-ส่งแบบฝึกหัดให้นักเรียน เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ย้ำชัดเจนว่า หากรัฐบาลประกาศยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 สถานศึกษาในสังกัด ศธ.ก็ต้องเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อความปลอดภัยของเด็ก เพราะโรงเรียนถือเป็นสถานที่เสี่ยงที่สุด และเด็กไม่มีความเข้าใจเหมือนผู้ใหญ่ หากมีปัญหา จะทำการสอบสวนโรคได้ยาก
อย่างไรก็ตาม การวางแผนสอนผ่านรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ใช่ในห้องเรียน สร้างความกังวล ขณะเดียวกันก็สร้างความหวังให้กับระบบการศึกษาอย่างมาก เพราะถือเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสพัฒนาการศึกษาให้ก้าวไม่อีกขั้น หาก ศธ.ดำเนินการตามที่วางแผนได้สำเร็จลุล่วง
แต่ก็ไม่วายมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ว่าครูจะพร้อมกับการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนใหม่หรือไม่ ??
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้ความเห็นไว้ว่า การจัดการเรียนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ จะมีความสมบูรณ์ทั้งหมดหรือไม่นั้น มองว่ายังไม่สามารถสู้การเรียนการสอนในห้องเรียนได้ แต่วันนี้ เมื่อไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ จึงต้องคิดวิธีการสอนในลักษณะต่างๆ ขึ้นมา ถามว่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้หรือไม่ อาจจะต้องซื้อแท็บเล็ตแจกเพื่อใช้สำหรับเรียน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา ดังนั้น การเรียนการสอนผ่านช่องทางที่ ศธ.วางแผนไว้ ถึงเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ดีที่สุดในขณะนี้
ส่วนจะทำให้นักเรียนอยู่หน้าจอทีวีได้อย่างไรนั้น นายอำนาจระบุว่า ขอความร่วมมือจากพ่อแม่ในการดูแลนักเรียน เพราะช่วงเวลานี้ มีมาตรการ Work From Home อยู่แล้ว การจัดรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะนี้ เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต ขณะนี้ สพฐ.ขะแก้ไขปัญหาในภาพรวม ถ้าพบข้อบกพร่องในวันที่ทดสอบระบบ ซึ่ง สพฐ.ตั้งเป้าไว้ว่าการเรียนการสอนที่จัดขึ้นนี้ นักเรียนจะได้ความรู้ประมาณ 80% เมื่อเทียบกับการอยู่ในห้องเรียน โดย สพฐ.จะพยายามหาวิธีการ เครื่องไม้เครื่องมือเพื่อเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด
นายอำนาจกล่าวอีกว่า เชื่อมั่นว่าวิธีการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ถือเป็นการพัฒนาอย่างหนึ่ง เพราะต่อไปจะใช้วิธีสอนในห้องเรียนแบบเดิม เพียงรูปแบบเดียว คงไม่ได้แล้ว และการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนครั้งนี้ ถูกเปลี่ยนเพราะมีสถานการณ์ที่สร้างข้อจำกัด ทำให้ ศธ.ต้องปรับเปลี่ยนวิธี
ทั้งนี้ การเรียนการสอนที่วางไว้ ถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน โดยฝ่ายบริหาร คือ ศธ.จะวางกรอบการเรียนรู้ ฝ่ายผู้ปกครอง พ่อแม่ต้องปรับวิธีการเรียนการสอนให้กับลูก โดยเรียนรู้พร้อมกับลูก ส่วนโรงเรียน และครู ต้องปรับวิธีการเรียนการสอน และตัวนักเรียนเอง ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ด้วย
“นวัตกรรมเหล่านี้ จะเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ฝึกคนให้เปลี่ยนการเรียนรู้ และแผนการเรียนที่คิดขึ้นนี้ แม้จะเป็นแผนฉุกเฉินที่คิดขึ้นมารองรับ แต่เชื่อว่าในอนาคต แผนนี้อาจจะนำมาใช้เป็นโมเดลในการสอนต่อไปได้ เพราะอย่าลืมว่าถ้าเริ่มทำให้สถานการณ์ปกติ ศธ.จะไม่สามารถทำได้ ดังนั้น วิกฤตครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสให้คิดวิธีการใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้ต่อไป” นายอำนาจ ระบุ
อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียนการสอนทางออนไลน์จริง มีคำถามตามมาว่า ศธ.จะมีความพร้อมมากแค่ไหน เพราะจากงานวิจัยของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้สำรวจความคิดเห็นของครู จำนวน 678 คน จากโรงเรียนใน 67 จังหวัด เพื่อศึกษาความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และความต้องการสิ่งสนับสนุนจากโรงเรียน หรือรัฐบาล หากต้องดำเนินการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
นายวิทัศน์ ฝักเจริญผล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มก.เปิดเผยว่า มีครูที่ตอบแบบสอบถาม แบ่งเป็น ครูโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ 25.5% โรงเรียนขนาดใหญ่ 20.8% โรงเรียนขนาดกลาง 32% และโรงเรียนขนาดเล็ก 21.7% รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมปลาย 46.2% มัธยมต้น 45.4% ประถมศึกษา 40.4% และปฐมวัย 1.8%
ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เคยเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด คือ Youtube จำนวน 83% รองลงมา คือ Facebook จำนวน 67.4% และ Google search จำนวน 55% และตอบว่าไม่เคยใช้เลย จำนวน 9.5% เคยใช้ประกอบการสอน หรือจัดการเรียนการสอนผ่าน Youtube จำนวน 43% Facebook จำนวน 42.5% และ Line จำนวน 40.5%
เมื่อถามถึงความพร้อมของครูหากจำเป็นต้องจัดการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ครูจะเลือกใช้ผ่าน Facebook มากที่สุด จำนวน 51.8% รองลงมา คือ Line จำนวน 49% Google classroom จำนวน 38 % Youtube จำนวน 31.1% และตอบว่าไม่สามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ 11.5% โดยมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์อยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป จำนวน 66.6%
แต่หากถามว่าจะพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมหรือไม่ มีผู้ตอบว่าพร้อมในระดับปานกลางขึ้นไป จำนวน 58.2% เท่านั้น !!
ขณะเดียวกัน ครูยังประเมินว่ามีนักเรียนจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ได้หากใช้จริง เนื่องจากไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 66% ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ที่บ้าน 57% ไม่มี smart phone จำนวน 36% โดยครูประเมินว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้เพียง 45% เท่านั้น
นอกจากนี้ งานวิจัยมีข้อเสนอให้รัฐบาลเช่นกัน หากต้องการผลักดันนโยบายสอนออนไลน์ เช่น รัฐบาลต้องจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้เองอย่างเร่งด่วน
การที่ ศธ.ยังไม่คิดรูปแบบการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ และเปลี่ยนรูปแบบมาสอนทางทีวี อาจจะพบข้อมูลว่าครูที่มีอยู่ในระบบนั้น ไม่มีความพร้อมในการสอนผ่านออนไลน์ และถ้าจะอบรมพัฒนาก็ต้องใช้เวลานาน
ดังนั้น ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ต้องคิดรูปแบบการเรียนการสอนที่เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง “ทีวีดิจิทัล” ที่แทบทุกครัวเรือนมีไว้ที่บ้าน เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถเข้าถึงง่าย น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในเวลานี้
ไม่ว่ารูปแบบการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ ศธ.กำลังดำเนินการ หาก ศธ.ทำได้สำเร็จ ก็ถือเป็นการปฏิรูป และพลิกโฉมครั้งใหญ่ของวงการศึกษาไทย ที่จะสามารถปูพรม และพัฒนาต่อยอดรูปแบบการเรียนการสอนให้หลากหลายได้ในอนาคต
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ