เผยคำเตือนองค์การอนามัยโลกล่วงหน้า15ปี เรื่องรับมือโรคระบาดทั่วโลก





เชื่อหรือไม่ ว่า World Health Organization (WHO) ในภาษาไทยใช้ชื่อว่า “องค์การอนามัยโลก” เคยเตือนโลกให้รู้ถึง “ความไม่พร้อม” ที่จะรับมือการแพร่ระบาดของไรรัสครั้งใหญ่แค่ 3 เดือน ก่อนโควิด-19 จะเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ไม่มีประเทศไหนฟัง

จากข้อมูลศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ณ วันที่ 3 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 3,484,176 คน อยู่ในขั้นการรักษา 50,858 ราย หายแล้ว 1,120,930 คน และเสียชีวิต 244,778 คน ทั่วโลก

ล่าสุดทำให้สหรัฐอเมริกา กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่ ติดเชื้อสูงถึง 1,160,774 คน และเสียชีวิต 67,444 คน มากกว่ายุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ส่งทหารไปรบและเสียชีวิตในสงครามเวียดนาม

ช่วงกลางเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังประกาศระงับการให้เงินสนับสนุน WHO ด้วยเหตุผลว่า WHO ปกปิดความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน ทำให้เชื้อระบาดไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ซึ่งเตรียมทุ่มเงินบริจาคของมูลนิธิผลิตวัคซีน สู้กับไวรัส -19 เคยทำนายไว้ก่อนจะเกิดไวรัสระบาดที่เมืองอู่ฮั่นถึง 7 เดือน ว่าโลกไม่พร้อมรับมือการระบาดของไวรัส

ในหนังสารคดีเรื่อง Coronavirus, Explained ที่ฉายบนช่อง Netflix “เกตส์” ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่จะคร่าชีวิตมนุษย์ได้เป็นล้านคนนั้น “โรคระบาด” คือความเสี่ยงครั้งใหญ่ ผู้คนจะเสียชีวิตเท่าๆ กับการเกิดสงคราม ตามมาด้วย เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก มนุษยชาติจะเสียหายจนไม่อาจคาดคิด และไม่มีประเทศไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้

ทั้งที่ “ไวรัส” ที่มีอยู่ในธรรมชาติ – ในสัตว์ป่ากว่า 1.5 ล้านชนิด ไม่มีใครรู้ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เมื่อไหร่ เวลาใด เหตุนี้มนุษย์จึงยังไม่มีวัคซีนรักษา แต่ระบบป้องกันภัยร้ายด้านสาธารณสุขกลับถูกมองข้าม ประเทศมหาอำนาจกลับทุ่มสรรพกำลังไปกับการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ทางการทหาร

เสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันประเทศ ทั้ง โดรนสังหาร เครื่องบินรบ รถถัง เรือบบรรทุกเครื่องบิน ระเบิดชนิดใหม่ๆ มากกว่าตรียมรับมือภัยพิบัติด้านสาธารณสุข

หนังสารคดีชิ้นนี้ความยาวเพียงแค่ 26 นาที ด้วยวิธีการเล่าเรื่องโควิด -19 ง่าย – ไม่ซับซ้อน แต่สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมด้านสาธารณสุขของโลกเป็นอย่างดี

ในปี 2005 (พ.ศ.2548) WHO ออกคู่มือ “แนะนำ” 196 ประเทศสมาชิก ให้เตรียมพร้อม – พัฒนาการรับมือโรคระบาด และให้รายงานต่อ WHO

แต่ไม่มีใครส่งรายงาน ทั้งโลกกลับเพิกเฉย!

3 เดือน ก่อนเกิดไวรัสอู่ฮั่น WHO ออกรายงานชิ้นหนึ่งเมื่อ กันยายน 2562  ชื่อว่า A WORLD AT RISK : Annual report on global preparedness for health emergencies เป็นรายงานประจำปีเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมระดับโลก สำหรับกรณีฉุกเฉินด้านสุขภาพ

ในรายงานฉบับดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า โลกไม่พร้อมรับมือกับการระบาดของเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจครั้งใหญ่ ซึ่งจะคร่าชีวิตผู้คน 50-80 ล้านคน และจะล้างบางเศรษฐกิจของโลกเกือบ 5%  

“then there is a very real threat of a rapidly moving, highly lethal pandemic of a respiratory pathogen killing 50 to 80 million people and wiping out nearly 5% of the world’s economy”……“world is not prepared”

เมื่อโลกยังไม่พร้อมรับมือ วัคซีนยังอยู่ในขั้นพัฒนา ดังนั้น วิธีที่โลกใช้ชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสจึงมี 2 วิธี 1. Quarantine (การกักกันโรค) 2.Social distancing (รักษาระยะห่างทางสังคม) เป็นวิธีชะลอการระบาดของ “ไวรัส” ที่ใช้กันทั้งโลก และใช้ตั้งแต่ยุคโบราณกาล ตั้งแต่การระบาดของกาฬโรค เมื่อ 7 ร้อยปีที่แล้ว

ในปี 1918 ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดสเปนไปทั้งโลก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อ 50 ล้านคน

มีการเปรียบเทียบมาตรการการป้องกันใน 2 เมืองใหญ่ของสหรัฐแตกต่างกัน

ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี มีการใช้นโยบาย Social distancing และการล็อกดาวน์กิจการต่างๆ ขณะที่ เมืองฟิลาเดลเฟีย ในรัฐเพนซิลเวเนีย ยังมีการเดินขบวนพาเหรดใหญ่ในงาน “Liberty Loan” ช่วงที่ไข้หวัดสเปนระบาด

ที่สุดแล้วอัตราการติดเชื้อ – ตาย ที่เซนต์หลุยส์มีจำนวน 358 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนเมืองฟิลาเดเฟียที่ไร้การล็อกดาวน์ มีอัตราการตายสูงกว่าเห็นได้ชัด คือ 748 ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน

แต่ทว่า..เมืองเซนต์หลุยส์ ได้คลายล็อกดาวน์เร็วเกินไป จึงทำให้เกิดการการระบาดซ้ำ ต้อง “ล็อกดาวน์” เมืองรอบสอง

สถานการณ์เมื่อ 102 ปีก่อน ยังคงเป็นบทเรียนสำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน

ความไม่พร้อมด้านสาธารณสุขทั้งโลก หลายประเทศยังจัดอยู่ในกลุ่ม “รังของโรค”

แม้รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ผู้ติดเชื้อในแต่ละวันลดลงต่ำสิบ แต่ถ้าประมาท – การ์ดตกเมื่อไหร่ “ไวรัสอันตราย” จะกลับมาระบาดอีกครั้ง

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: