เผยยอดหนี้ครูพุ่ง1.4ล้านล้าน-กู้สหกรณ์พุ่ง8.74แสนล้าน





นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. เปิดเผยว่า ตามที่ได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูกับสถาบันการเงินหลัก 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นั้นขณะนี้มาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว และเตรียมเสนอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. พิจารณาเห็นชอบ ทั้งนี้จากการตรวจสอบยังพบว่า หนี้ก้อนใหญ่ที่สุดของครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู กว่า 8.74 แสนล้านบาท ธนาคารออมสิน มีหนี้อยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท และ ธอส. อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท รวมยอดหนี้ทั้งหมด กว่า 1.4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ที่ผ่านมามีความพยายามจะหารือกับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครู แต่ด้วยข้อจำกัดของระเบียบต่าง ๆ ที่สหกรณ์มี จึงต้องหารือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อขอให้ช่วยเชื่อมโยงไปยังกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต่อไป

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ จะเริ่มมีการหารือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ทั้งหมด 109 แห่ง แบ่งเป็น 3 รอบ คือรอบแรก กลุ่มที่มีทุนมากกว่าหนี้ รอบที่สองกลุ่มที่มีหนี้มากกว่าทุน และรอบสุดท้ายกลุ่มที่ไม่ใช่สหกรณ์จังหวัด เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหา เบื้องต้นจะเป็นแนวทางเดียวกับการแก้ปัญหาหนี้สินของสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่งซึ่งจะมีทั้งพักชำระหนี้ ลดต้น ขยายเวลาการชำระหนี้ แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ โดยคาดว่ามาตรการต่าง ๆ จะเริ่มดำเนินการได้หลังเดือนกันยายนเป็นต้นไป เนื่องจากขณะนี้ สถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าวด้วย

“ภาพรวมเฉพาะปี 2562 สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ปล่อยกู้ทั้งหมด 3.78 แสนล้านบาท ร้อยละ 33 กู้ไปใช้ส่วนตัว ร้อยละ 23 กู้เพื่อชำระหนี้สินเดิม ร้อยละ 17 กู้เพื่อซื้อบ้านและที่ดิน และร้อยละ12 กู้เพื่อนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งจากข้อมูลยังพบว่า เหตุที่วงเงินกู้ในปี 2562 ค่อนข้างมาก เพราะมีการเปลี่ยนสัญญากู้ ซึ่งมีทั้งการจัดไฟแนนซ์ และปล่อยให้กู้เพิ่ม ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่มีปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้ NPL ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าการกู้ในปี 2562 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งทางกรมสหกรณ์ ก็เข้าใจบริบทและได้มีการปรับแก้ระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินในหลายเรื่อง และเรื่องสำคัญคือ คือกฎ กษ.ที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน อาทิ กำหนดให้ข้อมูลของผู้กู้ต้องอยู่ในข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ต้องเหลือเงินเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 มีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยลดจำนวนงวดการผ่อนลง เป็นต้น โดยแนวทางในร่างประกาศดังกล่าว ผ่านการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนแนวทางที่ศธ. จะไปหารือกับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ก็ไม่ถือว่าซ้ำซ้อน แต่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยบรรเทาภาระหนี้สินครู” นายอนุชากล่าว

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: