บอร์ด สกสค.ถกแก้ปัญหาเลิกจ้าง จนท.องค์การค้าฯ 961 ราย เผยเร่งรัดเบิกจ่ายค่าชดเชยเร่งด่วน 1 แสนบาท/คน ส่วนค่าชดเชยหลักแบ่งตามอายุงาน คาดใช้เม็ดเงินไม่น้อยกว่า 1,285 ล้าน ยอมรับ 15 ปีขาดทุนต่อเนื่องจริง ผุดแนวทางแก้ไขทั้ง เลิกกิจการ-ปรับลดพนักงาน
จากกรณีนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ลงนามในหนังสือเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของสกสค.จำนวน 961 ราย ตามมติของคณะกรรมการองค์การค้า สกสค. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เนื่องจากขาดทุนในการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 15 ปี มีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 6.7 พันล้านบาท ส่งผลให้เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ สกสค. ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง มีความไม่มั่นใจถึงค่าชดเชยที่จะได้รับ รวมถึงแนวทาง และระยะเวลาในการเบิกจ่าย เพื่อสามารถมีรายได้สำหรับการใช้จ่ายของตนเองและครอบครัวนั้น
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ สกสค. ภายหลังการประชุมนายธนพร สมศรี รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ สกสค. ชี้แจงถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหาแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าชดเชยบางส่วนเป็นจำนวนเงินคนละ 100,00 บาทให้กับเจ้าหน้าที่ที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยเร็วที่สุด โดยจะให้มีการเบิกจ่ายค่าชดเชยได้ภายในวันนี้ ( 3 ก.ค. 2563) ทันที ไม่ต้องรอการเบิกจ่ายในปลายเดือน ก.ค. ตามวงรอบบัญชีเงินเดือนแต่อย่างใด
“บอร์ดบริหาร และรัฐมนตรีว่าการ ได้แสดงความห่วงใยว่า แม้การเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 1 ส.ค. นี้ก็ตาม แต่ระหว่างนี้ หากเจ้าหน้าที่สามารถมีเงินก้อนที่จ่ายให้ล่วงหน้าก่อน จะสามารถนำเงินที่ได้รับนี้ไปจัดสรร หรือบริหารการเงินส่วนตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เป็นการแบ่งเบาภาระ หรืออาจจะช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่บางคนสามารถเริ่มดำเนินกิจการทางธุรกิจได้รวดเร็วมากขึ้น” โฆษกคณะกรรมการ สกสค.กล่าว
นายธนพร กล่าวอีกว่า ทางบอร์ดองค์การค้าฯ สกสค.ได้หารือกันโดยละเอียด โดยคำนึงถึงสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และพิจารณาถึงแนวทางที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดให้กับเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ จึงมีมติเห็นชอบในการกำหนดการจ่ายค่าชดเชยออกเป็น 2 ประเภท เต็มจำนวนตามกฎหมายกำหนด โดยใช้เงื่อนไขอายุการทำงานและเงินเดือนล่าสุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยรวม 400 วัน หรือประมาณ 13 เดือน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน
“เจ้าหน้าที่บางคนจะได้รับเงินชดเชยและเงินบำเหน็จรวม 4 ล้านบาทเศษ โดยผู้ที่ได้รับต่ำสุด จะได้รับไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท ซึ่งการชดเชยโดยรวมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ จะได้รับมากกว่าพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไปที่มีการเลิกจ้าง” นายธนพรกล่าว
โฆษกคณะกรรมการ สกสค.กล่าวด้วยว่า ช่วงระยะเวลา 1 ปี ของคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ สกสค. ชุดใหม่ ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานขององค์การค้าฯ ที่มีต่อเนื่องกว่า 15 ปี ซึ่งมีตัวเลขที่ติดลบต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562 โดยมีแนวทางเลือกไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การหยุดกิจการ 2.ดำเนินกิจการเช่นเดิมต่อไป หรือ 3.การปรับองค์กรด้วยลดจำนวนพนักงาน
แนวทางแรก คือการหยุดกิจการเลย แล้วนำทรัพย์สินที่มีออกขายเพื่อชำระหนี้ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องตกงาน และองค์การค้า ฯ ก็เหมือนจะถูกยุบไปเลย แต่ สกสค.ในฐานะนิติบุคคลขององค์การค้า ฯ ยังคงต้องรับผิดชอบในหนี้ 6,700 ล้านบาททั้งหมด จะได้คืนเพียงมูลค่าทรัพย์สินขององค์การค้า ฯ เช่น ที่ดิน เป็นต้น
แนวทางที่สอง ยังคงเดินหน้ากิจการต่อไปตามเดิม ซึ่งจะยังคงประสบกับภาวะขาดทุนไปเรื่อย ๆ โดยขาดทุนปีละประมาณ 300-400 ล้านบาท อาจจะทำให้ยอดหนี้สูงถึง 1 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาอันใกล้ นั่นหมายความว่า สกสค.ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด และมีครูทั่วประเทศที่นำเงินมาฝากไว้ จะได้รับผลกระทบจากยอดหนี้ที่สูงมากขึ้น
แนวทางที่สาม คือการปรับองค์กรด้วยการลดจำนวนพนักงาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาอย่างรอบด้าน จึงตัดสินใจเลือกแนวทางที่สาม เพื่อให้องค์กรยังคงอยู่ และคัดสรรบุคคล คิดแผนกลยุทธ์ ปรับทิศทางการดำเนินงาน ให้สามารถดำเนินกิจการ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ต่อไป
นายธนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจดำเนินการปรับลดเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากช่วงระยะเวลาก่อนหน้า ทางองค์การค้า ฯ มีภารกิจต้องเร่งผลิตหนังสือเรียนประจำปี 2563 และวางแผนการจัดส่งให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้การเรียนการสอนไม่สะดุดหรือติดขัด
“เมื่อหนังสือได้ส่งถึงมือนักเรียนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และได้พิจารณาเห็นว่าจำนวนพนักงานที่คงเหลือ ประมาณ 25% ของพนักงานทั้งหมดเพียงพอ และสามารถวางแผนเพื่อเตรียมการสำหรับงานในปีถัดในกรอบระยะเวลาที่มีได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการครั้งนี้” นายธนพรกล่าว
สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 961 รายนั้น มีอายุงานโดยเฉลี่ย 25 ปี 5 เดือน และมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยเดือนละ 31,287 บาท ซึ่งการพิจารณาค่าชดเชยครั้งนี้ ทาง สกสค.ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 423 ล้านบาทเศษ และเมื่อรวมกับค่าบำเหน็จของเจ้าหน้าที่จำนวน 861 ล้านบาทเศษแล้ว ต้องใช้จำนวนเงินโดยรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,285 ล้านบาท และยังคงสิทธิในการพิจารณาค่าการทำงานในวันพักร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดคำนวณเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งทางองค์การค้าฯ ต้องกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการในการจ่ายค่าชดเชยครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหาร สกสค. ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการแต่งตั้งให้นายอดุลย์ บุสสา ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ สกสค. โดยมอบหมายภารกิจเร่งด่วนในการจัดทำแผนฟื้นฟูการบริหารจัดการ และแผนการดำเนินธุรกิจขององค์การค้าฯ และให้เสนอคณะกรรมการบริหารองค์การค้า ฯ สกสค.ภายใน 30 วัน โดยแผนที่นำเสนอ หากจำเป็นต้องมีแผนงานด้านบุคลากร และมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ใหม่เพิ่มเติม ก็ให้สามารถประกาศรับสมัครได้ ซึ่งทางคณะกรรมการจะต้องรอพิจารณาแผนโดยละเอียดอีกครั้ง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ