ขึ้นชื่อว่าของมือสอง แน่นอนว่ามันต้องมีตำหนิมาบ้างตามประสาของที่เคยผ่านการใช้งานมาแล้ว บางคนอาจจะขอปล่อยผ่านเพราะกังวลในเรื่องความสกปรกบ้าง ประวัติของมันที่ไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เจ้าของทำอะไรไว้บ้าง แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ในอีกด้านหนึ่ง เดี๋ยวนี้ของมือสองหรือของแนววินเทจกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะของที่เกี่ยวกับแฟชัน เช่น เครื่องแต่งกาย, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้โบราณ ที่มีทั้งถูกสุด ๆ ให้นำไปโมดิฟายเอง และแพงหูฉีกนำไปปั่นราคาให้สมกับความเก่าแก่หายากกันหลายต่อหลายเจ้า
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบของมือสองมาก ๆ ไม่ว่าจะซื้อไปใช้งานเอง หรือต้องการซื้อไปเก็งกำไร นี่คือเทคนิคเบื้องต้นที่คุณต้องมีไว้ในใจ
ภาพประกอบจาก www.tiggersound.com
1. ในกรณีหน้าร้านออนไลน์ ต้องเลือกดูเฉพาะผู้เสนอขายที่ให้รายละเอียดได้ถี่ยิบมาก
ยิ่งไม่เห็นของจริง ยิ่งต้องรู้ข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อการตัดสินใจที่น่าเชื่อถือมากที่สุด อย่างน้อยต้องมีภาพถ่ายทุกมุมสินค้าอย่างคมชัด ถ่ายแม้กระทั่งตำหนิโดยตรง ไม่หมกเม็ด มีช่องทางการติดต่อไปยังผู้ขายได้สะดวกทุกช่องทาง ยิ่งสามารถบอกประวัติของสิ่งของนั้นได้ดี ยิ่งน่าสนใจเป็นพิเศษ
2. ในกรณีที่มีหน้าร้านจริง พิกัดชัดเจน ควรเข้าไปดูของจริงให้เห็นกับตาอย่างละเอียด
อย่าอ้ำอึ้ง เดินมองเดินเลือกอย่างเงียบ ๆ ควรมีปฏิสัมพันธ์กับคนขายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อ อย่าเลือกร้านแบกะดิน หรือร้านค้าที่ไม่มีพิกัดแน่นอน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบในภายหลังว่าเรารับซื้อของโจรมารึเปล่า? สินค้านั้นเป็นของร้อนรึเปล่า? (ขโมยมาหรือว่ามีประวัติเรื่องผีสางนางไม้?)
3. ควรมีความรู้เรื่องกระแสแฟชันในตอนนี้อยู่บ้าง
ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน หรือรถคลาสสิคไม่มีปัญหานี้สักเท่าไหร่ เพราะของพวกนี้ยิ่งเก่า ยิ่งเป็นอมตะ ยิ่งราคาสูง แต่ถ้าเป็นหมวดเครื่องแต่งกายที่ต้องสวมใส่กันทุกวันอย่างเสื้อผ้า, นาฬิกา, กระเป๋า, แว่นตา อย่างน้อยคุณต้องมีไอเดียผ่านตามาบ้างว่าเดี๋ยวนี้เขาแต่งตัวกันยังไงเพื่อที่จะเลือกเสื้อผ้าให้เข้ากับยุคสมัยนี้ได้… แฟชันมันวนเวียนกันเป็นวัฏจักรก็จริง เสื้อคุณยายสามารถนำมาใส่ในตอนนี้ได้ก็จริง แต่ต้องดูด้วยว่าใส่แล้วจะกลมกลืนดีหรือแปลกจนน่าขันเพราะมันเห่ยมาก ๆ
4. อย่ามองข้ามของมีตำหนิ ถ้าคุณพอจะรู้จักวิธีแก้ไข
หลายคนมักมองข้ามของมีตำหนินิดหน่อย เช่น รอยขาด, ปั๊มลายผิด, สกรีนผิด, เนื้อผ้าย้วย ว่ามันก็ไม่ต่างอะไรกับผ้าขี้ริ้ว แต่สำหรับคนที่ตาถึง มีไอเดียในหัว มันจะกลายเป็นสินค้าเอี่ยมอ่องอรทัยได้แน่ เพราะมันจะถูกนำมาเย็บใหม่ ย้อมใหม่ จนสวยสะดุดตานักเชียว !
แต่อย่างไรก็ตาม ตรวจสอบให้ดีว่าของชิ้นนั้นมีรอยอะไรหรือไม่ เช่น รอยด่างที่ไม่แน่ใจว่าเป็นรอยยางกล้วยหรือคราบเลือด, พื้นรองเท้าที่ไม่รู้ว่ามีเศษอะไรซ่อนอยู่รึเปล่า ถ้าคุณไม่สบายใจจริง ๆ ทั้งที่ถามคนขายก็แล้ว พยายามปลงก็แล้ว ก็ไม่ต้องซื้อ ไปเลือกซื้อเฉพาะของที่ค่อนข้างสภาพสมบูรณ์ 90% ขึ้นไปจะดีกว่า
สีย้อมผ้าแบบแบ่งขายเป็นซอง หาซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์หรือร้านเครื่องเขียน (มีหลายยี่ห้อ หลายสี)
ภาพประกอบจาก www.sivasumpan.com
5. ซื้อมาแล้วอย่าลืมรับผิดชอบจัดการเอง
การตัดสินใจซื้อของมือสองก็เท่ากับว่าคุณยอมรับแต่แรกแล้วว่าจะเสี่ยงรับสินค้าที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น หลังจากที่คุณซื้อไปแล้ว หากเกิดอะไรขึ้นจะโทษคนขายอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้อง มันอยู่ที่อยู่แล้วล่ะว่าได้ของแล้วจะไปจัดการยังไงต่อ ที่แน่ ๆ ก็คือซื้อไปแล้วจะใช้เลยก็ไม่ใช่ ควรจับมาล้างน้ำ ต้มน้ำ ทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูกันสักหน่อย … อยากให้มันออกมามีรูปโฉมยังไง ก็ขึ้นกับคุณแล้วล่ะว่าจะเนรมิตมันออกมายังไง คนขายเขาก็แค่ขายไปให้พ้นแค่นั้นเอง
ใช่ว่าของมือสองจะเป็นของที่แย่เสมอไป… “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” คุณมีสิทธิได้ของดีมีคุณภาพแน่นอน ถ้าคุณรู้จักเลือก รู้จักประยุกต์ด้วยตัวเอง… ขอให้คุณโชคดีเจอของที่ถูกใจ !! : )
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ