ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ปรับ ครม.?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29–30 มิถุนายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 43.09 ระบุว่า ควรปรับ ครม. ทั้งคณะ เพราะ การบริหารงานที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ยังไม่มีผลงานให้เห็นเด่นชัด และอยากให้ ท่านอื่นลองเข้ามาบริหารบ้าง
รองลงมา ร้อยละ 39.89 ระบุว่า ควรปรับ ครม. บางตำแหน่ง เพราะ บางตำแหน่งยังทำงานไม่ตรงกับตำแหน่งที่ได้รับ อยากได้บุคคลเข้ามาทำงานเหมาะสมกับตำแหน่ง ร้อยละ 16.95 ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาปรับ ครม. เพราะ อยากให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 หมดจากประเทศก่อน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องปรับ ครม. และร้อยละ 0.07 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านการปรับ ดร.อุตตม สาวนายน ออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.76 ระบุว่า ควรถูกปรับออกจากตำแหน่ง เพราะ การบริหารงานมีความล่าช้า ผลงานยังไม่มีความโดเด่น ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับ รองลงมา ร้อยละ 38.61 ระบุว่า ไม่ควรถูกปรับออกจากตำแหน่ง เพราะ การทำงานดีอยู่แล้ว นโยบายช่วยเหลือประชาชนดี ควรให้โอกาสในการดำรงตำแหน่งต่อไปก่อน ร้อยละ 14.95 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนการปรับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.17 ระบุว่า ควรถูกปรับออกจากตำแหน่ง เพราะ ไม่มีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ อยากได้บุคคลที่ตรงกับตำแหน่งเข้ามาทำงานมากกว่า รองลงมา ร้อยละ 36.05 ระบุว่า ไม่ควรถูกปรับออกจากตำแหน่ง เพราะ ผลงานที่ผ่านมายังดีอยู่ อยากให้โอกาสอยู่ในตำแหน่งต่อเพื่อดูผลงานต่อไป ร้อยละ 19.26 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 3.52 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับการปรับ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.73 ระบุว่า ไม่ควรถูกปรับออกจากตำแหน่ง เพราะ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ควรให้โอกาสในการดำรงตำแหน่งต่อไปก่อน รองลงมา ร้อยละ 36.45 ระบุว่า ควรถูกปรับออกจากตำแหน่ง เพราะ ผลงานยังไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร ไม่มีการพัฒนา ไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 20.78 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 5.04 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ของโฆษกรัฐบาล ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.44 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ ยังขาดประสบการณ์การทำงานทางด้านเศรษฐกิจ ผลงานยังไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร และการทำงานยังสู้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเดิมไม่ได้ รองลงมา ร้อยละ 32.45 ระบุว่า เหมาะสม เพราะ มีความสามารถในการแจกแจงปัญหาได้ชัดเจน มีเหตุมีผล และอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น ร้อยละ 17.11 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 6.00 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.87 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.58 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 17.99 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.89 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.67 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.16 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.84 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 7.51 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.19 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.98 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.18 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 24.14 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.88 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.36 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.04 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.54 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.18 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.24 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 29.90 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 31.73 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.43 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.86 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.96 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 9.83 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.83 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.34 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.47 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 18.23 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.30 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.88 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 19.59 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.22 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.18 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.95 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.87 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.43 ไม่ระบุรายได้
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ