เมื่อวันที่ 14 ก.ค. เวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2562 พร้อมรายงานของคณะ กรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.อภิปรายว่า ในส่วนแผนแม่บทความมั่นคงนั้น เมื่อการเมืองมีปัญหา ขาดเสถียรภาพ ความสงบในประเทศย่อมไม่ยั่งยืนตามไปด้วย การปฏิบัติให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ชาติย่อมไม่สำเร็จ จึงขอเสนอการสร้างความปรองดองว่า
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2563 เพราะความขัดแย้งทำให้สังคมแยกเป็น 2 ขั้ว และแยกย่อยมากขึ้นทุกที ร้าวลึกถึงระดับครอบครัว มีผู้มีคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนับร้อยคน เชื่อมโยงไปถึงมวลชนอีกนับล้านคน ที่เมื่อมีคดีตัดสินออกมาจะเกิดวิวาทะทางออนไลน์
“อย่างนี้นายกรัฐมนตรีจะรวมไทยสร้างชาติได้อย่างไร เมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งให้ขึ้นศาลทุกสัปดาห์ จะไปต่างประเทศต้องรายงานต่อศาล หลายคนถูกยึดทรัพย์ การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยสงครามคอมมิวนิสต์ยังจบได้ ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ด้วยการนิรโทษกรรมให้อภัย เปิดโอกาสให้พลังทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาชาติไทย
ถึงเวลาต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม การทำผิดของคนที่มาชุมนุมการเมืองหรือทำผิดทางอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ใช่มีจิตเป็นอาชญากรโดยแท้ แต่ต้องการสังคมที่ดีกว่า ต้องการการเมืองใหม่ การปฏิรูปประเทศ การ กระทำทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย จึงต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่ม ดังนั้นนายกรัฐมนตรีอย่าลังเล”นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณกล่าวต่อว่า ส่วนคำถามที่ว่า คนหนีคดีจะทำอย่างไรนั้น ในหลักการอธิบายรายละเอียดได้ อาทิ
- 1.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมการเมืองโดยตรง
- 2. นิรโทษกรรมเบื้องต้นเฉพาะผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว
- 3. ใครยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือหนีคดีไปนั้น ถ้ากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาที่จะออกแบบตั้งขึ้นมา ย่อมได้สิทธินี้
- 4.อาจจะต้องตีความนิยามการชุมนุมทางการเมืองผ่านการออกแบบจากคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมา
จึงอยากให้นายกฯ แสดงเจตจำนงนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน อาจเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 จะต้องนำไปพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะเป็นการสร้างบารมีให้นายกฯ
เพื่อสร้างระบบประชาธิปไตยที่มั่นคง มีธรรมาภิบาล ถ้านายกฯรวมใจคนทุกภาคส่วนเข้ามา โดยมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นก้าวแรกก็จะก้าวต่อไปได้ จึงขอฝากความหวัง นำจิตสำนึกผู้รักชาติทุกคน ทุกสี ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 15 ปี เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก หากย้อนไป เมื่อปี 2556 เคยมีการนำเสนอกฎหมายดังกล่าว โดยกลุ่ม ส.ส.เพื่อไทย ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐบาล โดยมีการนำเสนอ เป็น 2 ลักษณะคือ การนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อ ซึ่งเสนอโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตัวแทนกลุ่ม นปช.
และรูปแบบที่ 2 คือการนิรโทษกรรมทั้งแกนนำผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุม และบุคคลทางการเมืองที่มีคดีความทุกฝ่าย โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิช ส.ส.เพื่อไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งในรูปแบบที่ 2 นั้น ถูกกลุ่มประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น ไม่เห็นด้วย
โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาล นำโดย นายสุเทพ เทือกสุรรณ แกนนำ กปปส. ได้ออกมาชุมนุมใหญ่ เพราะมองว่าการนิรโทษกรรมดังกล่าว เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับสู่ประเทศไทย จนกระทั่งรัฐบาลในเวลานั้น นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ต้องถอยทุกร่าง พรบ.นิรโทษกรรม แต่สุดท้ายบานปลายจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ