ครม.หนุนสกัดโควิดข้ามพรมแดน สั่งตรวจเข้มแรงงานต่างด้าวพื้นที่ระยอง





ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์“อาเซียน-จีน” สนับสนุนขนส่งและโลจิสติกส์ป้องกันโควิดข้ามแดน ลดความเสี่ยงนำเชื้อเข้าประเทศ อนุมัติร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีร่วมฟื้นฟูผลกระทบโควิดระดับโลก

ขณะที่ ตร.เผยผลักดันแรงงานต่างด้าวลอบเข้าเมือง กว่า 3,000 คนออกหลังตรวจไม่พบโควิด กรมจัดหางานสั่งเข้มแรงงานพื้นที่ระยอง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้(14ก.ค.)ว่า ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน ว่าด้วยการเสริมสร้างการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ราบรื่นเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน สมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 ด้วยระบบการประชุมทางไกล ที่จะจัดขึ้นวันที่ 16 ก.ค.2563

สำหรับแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว แสดงออกถึงความมุ่งมั่นระหว่างอาเซียนและจีนในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การเดินทางและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก การคมนาคม และการบริการด้านอื่น รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานและตลาดการเงินหยุดชะงัก 

ส่วนสาระสำคัญ คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าที่จำเป็นข้ามพรมแดน รวมถึงอาหาร ยา และเวชภัณฑ์สำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าและบริการอื่น โดยอำนวยความสะดวกในการเข้า ออก และผ่าน ของวัสดุและสินค้า ให้ความสำคัญต่อการเดินเรืออย่างปลอดภัย และป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสข้ามพรมแดน และลดความเสี่ยงของกลุ่มที่นำเชื้อโรคเข้าประเทศ 

รวมทั้งอาเซียนและจีนจะอำนวยความสะดวกในการเตรียมการเดินทาง โดยทยอยลดข้อจำกัดด้านการเดินทาง แต่ยังคงเคารพซึ่งการป้องกันสุขภาพ โดยอาเซียนและจีนเห็นพ้องถึงความสำคัญที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุข และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

เห็นชอบร่างปฏิญญาฯพัฒนาที่ยั่งยืน

โฆษกรัฐบาล ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2020 โดยเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมดังกล่าว

สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ มีเนื้อหาแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่จะร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤติโควิด-19 ในระดับโลก โดยยึดมั่นในความร่วมมือระหว่างประเทศและระบบพหุภาคี

รวมทั้งครอบคลุมประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การขจัดความยากจน การเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ การเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก การเสริมสร้างสันติภาพ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคน ระบบสาธารณสุขและการคุ้มครองทางสังคม ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน 

รวมถึงการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การดำเนินการตามวาระปฏิบัติการแอดดิสอาบาบา (Addis Ababa Action Agenda) การสร้างขีดความสามารถด้านสถิติ การใช้ประโยชน์จากรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

เห็นชอบความช่วยเหลือจากธนาคารโลก

 ขณะที่นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงด้วยว่า ครม.เห็นชอบร่างหนังสือข้อตกลงรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากธนาคารโลก สำหรับโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ระยะที่ 2 วงเงิน 5.08 ล้านดอลลาร์ เพื่อลดการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFC) ในอุตสาหกรรมการผลิตสเปรย์โฟมและตู้แช่เย็น ซึ่งเป็นสารที่ทำลายโอโซนและทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

รัฐบาลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFC ระยะที่ 1 แล้วเสร็จวันที่ 31 ธ.ค.2562 ซึ่งลดและเลิกการใช้สาร HCFC สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

จับต่างด้าวลอบเข้าเมือง3,000คน

วันเดียวกันนี้(14ก.ค.)พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 5 พบว่า มีแรงงาน 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ลักลอบเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยดำเนินการจับกุมตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2563 จนถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองทั่วประเทศ ได้แล้วกว่า 3,000 คน 

โดยเข้ามาในลักษณะกองทัพมด และมีขบวนการนำพาเข้าพื้นที่ชั้นใน ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบเข้าทางตำรวจภูธรภาค 2 ซึ่งติดแนวชายแดนประเทศกัมพูชา ตำรวจภูธรภาค 5 พื้นที่ภาคเหนือ และตำรวจภูธรภาค 6 ซึ่งมีตะเข็บชายแดนติดประเทศลาว

ตรวจไม่พบโควิด-ผลักดันออก

นอกจากนี้ ในพื้นที่ชั้นในของตำรวจภูธรภาค 1 ยังจับแรงงานได้อีกจำนวนมาก ซึ่งทั้ง 3,000 คน ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ไม่พบ จึงได้ผลักดันออกนอกประเทศไปทั้งหมดแล้ว

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ ยังกล่าวถึง กรณีเจ๊เพชร จ่าย 4 พันรอด 100% และ เจ๊ต้อย วังน้ำเย็น ซึ่งถูกระบุเป็น เอเย่นต์ นำพาแรงงานเข้าประเทศผิดกฎหมาย ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ว่า อยู่ระหว่างการให้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมยอมรับว่า ความต้องการแรงงาน ของผู้ประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนระยะ 5 เป็นปัจจัยให้มีการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศ

เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีตำรวจเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ จากการเก็บค่าหัวคิวแรงงานเถื่อน เตือนผู้ประกอบการ ที่ใช้แรงงานเถื่อน จะถูกดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฐานให้ที่พักพิง และใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และสั่งปิดสถานประกอบการทันที

ขณะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้แรงงาน 3 สัญชาติดังกล่าว เข้าประเทศ แต่มีเงื่อนไขต้องกักตัวตามขั้นตอนคัดกรองโรค ซึ่งต้องรอผลสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง

“ประวิตร”สั่งเข้มสกัดแรงงานชายแดน

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เพิ่มความเข้มข้น ในการสกัดกั้นการลักลอบเข้าประเทศ ของแรงงานเถื่อน โดยให้ตั้งจุดตรวจ ทั้งในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ชั้นใน

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่สั่งการให้สืบสวนหาข่าวกลุ่ม เอเย่นต์ ผู้ที่นำพาให้การช่วยเหลือนำพา แรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งจัดชุดสายตรวจร่วมออกตรวจ ตักเตือน ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ สถานบริการกลางคืน

ล่าสุด ได้มีการกักตัวตำรวจ 6 นาย สังกัดภูธรจังหวัดระยอง ที่ร่วมกับคณะกรรมควบคุมโรค เข้าไปตรวจเชื้อทหารอียิปต์ ที่โรงแรมใน จ.ระยอง เบื้องต้นทั้งหมดได้รับการตรวจเชื้อ และกักตัว 14 วันตามขั้นตอน ซึ่งเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงน้อย เพราะไม่ได้เป็นผู้เข้าประชิดตัว ส่วนตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นชุดเฉพาะกิจ ที่เข้าไปตรวจสอบคณะทหารอียิปต์เท่านั้น

สำหรับสถิติ การจับกุมแรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ถึง 12 ก.ค.2563 สามารถจับกุมได้ 11,053 คน เป็นชาวเมียนมา 6,131 คน กัมพูชา 3,502 คน และลาว 1,336 คน นอกจากนี้ จับกุมขบวนการ นำพาคนต่างด้าวเข้าประเทศ ผิดกฎหมาย 15 คน และผู้ให้ที่พักพิง 51 คน

กรมจัดหางานสั่งจับตาระยอง

ขณะที่ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงาน โดย กกจ. ตรวจสอบคัดกรอง แรงงานต่างด้าวให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย นั้น กกจ.ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการที่รัฐกำหนด

“จึงสั่งการด่วนให้จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด เร่งเฝ้าระวังติดตามความเคลื่อนไหวของคนต่างด้าวในพื้นที่ ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แนะนำนายจ้างให้จ้างแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจคัดกรองของภาครัฐ และขอใบอนุญาตทำงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกับการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2”

ส่วนกรณีที่มีลูกเรือของเที่ยวบินทางทหารจากอียิปต์ ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 เดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ใน จ.ระยอง นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ กกจ.ได้มอบจัดหางานจังหวัดเฝ้าดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ติดตามความเคลื่อนไหวของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ว่าอยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ รวมทั้งเน้นย้ำให้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: