ศบค.เผยร่างรับแรงงาน “ต่างด้าว” เข้าไทย นายจ้างต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่าย
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มาตรการควบคุมโรคในกลุ่มของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่จะมีการอนุญาตให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีการนำเสนอฉบับร่างในที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการผ่อนคลาย โดยมีกลุ่มแรงงาน 2 ประเภท คือ กลุ่มมีใบอนุญาตในการทำงานพร้อมกับวีซ่า และรอเดินทางเข้ามา และกลุ่มที่ไม่มีใบขออนุญาต ซึ่งจำเป็นจะต้องเดินทางเข้ามา โดยความจำเป็นในการเข้ามานั้นเริ่มต้นใน 2 กิจการ คือ 1.กิจการโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้าง 2.อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน โดยจะมีมาตรการ ดังนี้ 1.มีหนังสือรับรองการเดินทางว่าจะเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทย 2.ใบรับรองแพทย์(Fit to travel) 3.ผู้ประกอบการที่จะนำแรงงานเข้ามาจะต้องมีการวางเงินประกันค่าใช้จ่ายของแรงงานที่เข้ามา
“ซึ่งร่างฉบับนี้ได้มีการพูดคุยคร่าวๆ ว่าการเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องมีการตรวจวีซ่า ตรวจหาโควิด-19 ตรวจสุขภาพ การเข้ากักกันในสถานกักของท้องถิ่น(Local Quarantine) หรือเป็น(Organizational Quarantine) อย่างน้อย 14 วัน พร้อมทั้งจะต้องมีแอพพลิเคชั่นติดตามตัว โดยจะต้องผ่านกระบวนการนี้ทั้งหมด การอนุญาตจ้างงานจะต้องมีการอบรม และเมื่อครบกำหนดการกักตัว 14 วันแล้ว นายจ้างจะต้องจัดยานพาหนะมาเพื่อรับแรงงาน และเมื่อรับออกไปแล้วจะต้องมีการรายงานกับสาธารณสุขจังหวัดที่เข้าทำงาน และสาธารณสุขจังหวัดจะต้องจัดทำชุดข้อมูลติดตาม” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวและว่า เป็นตัวอย่างข้อเสนอในที่ประชุม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในระดับหนึ่ง หากเดินทางเข้ามาจำนวนมากมีทั้งถูกและผิดกฎหมาย ก็อยากจะให้เดินทางเข้ามาอย่างถูกกฎหมายทั้งหมด และจะมีการลงรายละเอียดนำเข้าสู่การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อรับรองมาตรการต่างๆ ต่อไป
เมื่อถามว่าจะมีการจัดกิจกรรมแข่งขันต่างๆ ใน จ.ระยอง โดยจังหวัดอื่นสามารถทำได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทาง ศบค.อยากให้กิจกรรมมีการผ่อนคลายโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนกลับสู่ภาวะปกติในวิถีใหม่ แต่ทาง ศบค.มีความกังวลอยู่ จึงจะให้เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งก่อน เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ให้เกิดความมั่นใจ
“ผมเองก็นึกภาพไม่ออกว่าวิธีใหม่จะเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องมีการหารือกัน มีคนเสนอ มีการทดลอง ถ้าใช่ คนมาเที่ยว ดูคอนเสิร์ต ชมกีฬา มีความเห็นชอบด้วย ได้อารมณ์ร่วมในการดูเหมือนเดิมไม่ได้เสียอรรถรสไป เราจะต้องใช้พื้นที่หนึ่งในการทำงานตรงนี้ก่อน จ.ระยอง จึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาและเพื่อเป็นการเยียวยา รวมถึงดึงความเชื่อมั่น หากผ่านเรื่องนี้ไปได้ดีและประเมินแล้ว ทั้งคนในจังหวัดมั่นใจ ผู้จัดเองก็มั่นใจ ประชาชนที่เข้ามาร่วมก็มั่นใจ เกิดขึ้นที่จังหวัดไหนก็ได้ เป็นเรื่องมี่ค่อยๆ ทดลองกันไป” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ