ธอส. ย้ำนโยบายรับโควิด ลูกค้าสบายใจได้ ผ่อนไม่ไหว ไม่ยึดบ้าน!
วันที่ 16 ก.ค. นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า นโยบายในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ ธนาคารจะให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพลูกหนี้ ในกลุ่มที่เข้ามาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 รวม 4.9 แสนราย วงเงิน 4.8 แสนล้านบาท โดยได้สั่งการให้สาขาลงพื้นที่ดูแลลูกค้าเป็นรายคน ดูว่ากลุ่มไหนมีปัญหา ไม่สามารถผ่อนชำระได้ หลังครบกำหนดมาตรการพักหนี้ในเดือน ต.ค. จะช่วยเหลืออย่างไร มีส่วนไหนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และกลุ่มไหนที่จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
ธอส.ไม่มีนโยบายยึดบ้านลูกค้าที่ผ่อนชำระไม่ไหว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ 4.8 แสนล้านบาท ขอให้ติดตามข่าวสารของธนาคารให้ดี โดยเฉพาะช่องทางแอพลิเคชัน จีเอชบี ออล ถ้ารู้ว่าเริ่มผ่อนไม่ไหว ให้เข้ามาเจรจากับธนาคาร ซึ่งยอมรับว่า จากสถานการณ์โควิด เริ่มส่งผลกระทบกับกลุ่มลูกค้า 40% ของพอร์ตสินเชื่อ ที่เป็นกลุ่มอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย บ้างแล้ว”นายฉัตรชัย กล่าว
นอกจากนี้ เตรียมหารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางการขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ที่จะครบระยะกำหนดตามเกณฑ์ในช่วง ต.ค. โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวจาก ธปท.ระบุว่า จะไม่มีการขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ออกไปแล้ว ก็จะขอความชัดเจนในเรื่องนี้ แม้ว่า ธอส. จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ให้สามารถขยายเวลาพักชำระหนี้ ได้ถึงสิ้นปีนี้ 2563 แล้วก็ตาม โดยยืนยันว่าสภาพคล่องธนาคารสามารถรองรับมาตรการได้จนถึง เม.ย.2564 เนื่องจากเป็นรายได้ทางบัญชี ไม่มีรายรับเข้ามาจริง
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารจะเร่งให้บริการในด้านเงินฝาก ผ่านแอพลิเคชันทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งการขอหนังสือรับรอง การขอเปิดบัญชี ส่วนธุรกรรมเงินกู้ ก็จะให้ยื่นคำร้องขอกู้ ส่งข้อมูล รับแจ้งอนุมัติเงินกู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์
โดยลูกค้าจะมาสาขาของธนาคารเพียง 2 ครั้ง คือ ยื่นเอกสารขอกู้ และ มาเซ็นสัญญาเงินกู้เท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวก และรับสถานการณ์โควิด โดยคาดว่าภายในสิ้นปี จะมียอดลูกค้าที่ใช้แอพลิเคชันของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 6 แสนราย เป็น 1 ล้านราย
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (30 มิ.ย.) ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 1 แสนล้านบาท 6.21 หมื่นบัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวปีก่อน 12.99% คิดเป็น 50% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 2.1 แสนล้านบาท
โดยมีสินเชื่อคงค้าง 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.89% เงินฝาก 1.06 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 5.68 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.52% ลดลงจากเดือนพ.ค.ที่ 4.75% โดยคาดว่าทั้งปีหนี้เสียจะอยู่ที่ไม่เกิน 4.75% ส่วนกำไรอยู่ที่ 4.83 พันล้านบาท
ทั้งนี้ จากผลกระทบโควิด คณะกรรมการธนาคารเห็นชอบให้ปรับลดเป้าหมายดำเนินงานของธนาคารใหม่ โดยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท จากเดิม 2.1 แสนล้านบาท กำไรเหลือ 8.2 พันล้านบาท จาก 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารจะพยายามปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ได้ตามเป้าหมายเดิม
โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มได้ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าไม่มีการระบาดโควิดรอบ 2 ก็เชื่อว่าจะทำได้ รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นสินเชื่อบ้านรอบใหม่ของรัฐบาลที่จะออกมาครึ่งปีหลัง
นายฉัตรชัย กล่าวว่า สำเหตุที่กำไรลดลงเนื่องจาก มาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการตั้งสำรองหนี้เสีย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ การตั้งสำรองตามเกณฑ์ปกติ ตามเกณฑ์ ธปท. 500 ล้านบาท และ ตั้งสำรองเพื่อความมั่นคง และสำรองตาม 8 มาตรการพักหนี้ มีภาระตั้งสำรองเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ