ประกันสังคม ตอบชัดๆ “ทำไมจ่ายเงินชดเชยช้า” รู้แล้วอึ้ง คนตกงานถึง1.5ล้านคน





ประกันสังคม ตอบชัด ๆ ทำไมจ่ายเงินชดเชยว่างงานล่าช้า หลายคนรอนานแล้วเงินไม่เข้าสักที เผยคนตกงานทะลุเพดาน ยอดพุ่งกว่า 1.5 ล้านคน

วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 สำนักงานประกันสังคม ไลฟ์พูดคุยตอบคำถามประชาชน โดยนางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และโฆษกสำนักงานประกันสังคม ได้ตอบปัญหาคาใจที่หลายคนอยากทราบว่า ทำไมเงินชดเชยของประกันสังคมถึงได้ช้า รอนานแล้วทำไมไม่ได้สักที

นางพิศมัย เปิดเผยว่า ปกติแล้วประกันสังคมจะรับเคสต่าง ๆ ประมาณ 3,000 รายต่อวัน แต่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก 11 เท่า อยู่ที่ประมาณ 27,000 รายต่อวัน ทำให้ระบบอาจรองรับได้ไม่เต็มที่ ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของการแพร่ระบาดโควิด 19 มีเป็นหลักแสนรายทีเดียว

อีกทั้ง ก่อนที่กฎกระทรวงแรงงานจะมีผลบังคับใช้ออกมาในวันที่ 17 เมษายน ขณะนั้นเรามีเคสผู้ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยที่ยื่นเข้ามาแล้วกว่า 700,000 ราย ซึ่งรอให้เราวินิจฉัยอยู่ ทำให้ดำเนินการอย่างล่าช้า รวมถึงต้องรอให้นายจ้างยื่นรับรองด้วย หากนายจ้างยังไม่ยื่นเข้ามาสักที ก็ทำให้การดำเนินงานช้าลงไปอีก นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ต้องตรวจสอบคำสั่งของแต่ละจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งคำสั่งของแต่ละที่ให้หยุดกิจการไม่เหมือนกัน บางจังหวัดมีมากถึง 30 คำสั่ง

โดยในช่วงที่ผ่านมา มีนายจ้างยื่นขอรับชดเชยประมาณ 4 แสนกว่าแห่ง ส่วนผู้ประกันตนทั่วประเทศประมาณ 11 กว่าล้านคน สำหรับกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยอยู่ที่ประมาณ 9.1 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของผู้ประกันตนทั้งหมด แต่ถ้าเป็นการว่างงานปกติ คิดเป็นร้อยละ 5 โดยนับจำนวนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ประมาณ 6 แสนกว่าราย และจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี คาดว่าตัวเลขผู้ว่างงานจะก้าวกระโดดมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว จะเห็นว่าตัวเลขสะสมผู้ว่างงานของไทยในขณะนี้ ทั้งที่ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย และว่างงานปกติรวมแล้วกว่า 1.5 ล้านรายเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจาก  เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: