ภาคีนักเรียนฯ เปิดชื่อ 109 ร.ร. ละเมิดสิทธิเด็ก “ผูกโบว์ขาว” และ “ชู 3 นิ้ว” ต่อหน้าตัวแทน รมว.ศธ.
นักเคลื่อนไหวระดับมัธยมศึกษาที่เรียกตัวเองว่า “ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย” (AST) และ Uncommon International Group (UNG) เข้ายื่นข้อร้องเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วงบ่ายวันที่ 24 ส.ค.
ภาคีนักเรียนฯ ได้เปิดเผยรายชื่อโรงเรียนอย่างน้อย 109 แห่งที่ถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นและคุกคามนักเรียนที่ร่วมแสดงออกทางการเมืองในรั้วโรงเรียน ต่อหน้าผู้บริหาร ศธ. คือ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ คณะทำงาน รมว.ศธ. ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรี และนายวัลลพ สงวนนาม ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยการให้พวกเขาสแกนคิวอาร์โค้ด จากนั้นรายชื่อโรงเรียนที่ถูกเยาวชนร้องเรียนก็จะปรากฏขึ้นมา ตามด้วยคิวอาร์โค้ดที่ 2 ที่แสดงหลักฐานการร้องเรียนเบื้องต้นจากนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ
นายสมบูรณ์ได้รับปากจะนำข้อมูลทั้งหมดไปรายงานนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปดำเนินการต่อไป พร้อมระบุว่า “คงต้องสังคายนากันครั้งใหญ่” โดย ศธ. พร้อมเปิดรับข้อมูลเรื่องการคุกคามนักเรียนจากทุกภาคส่วน รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาหลายโรงเรียนทั่วประเทศได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ชู 3 นิ้วระหว่างเคารพธงชาติ” เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และ “ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ” ทว่าได้ปรากฏภาพและคลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ว่าครูบางส่วนได้พยายามปิดกั้นการแสดงออกของเด็ก ๆ
สำหรับรูปแบบการปิดกั้นและการคุกคามนักเรียนตามการรวมรวมข้อมูลของภาคีนักเรียนฯ มีหลากหลาย อาทิ
- ร.ร. บางแห่งใน จ.ระยอง สุราษฎร์ธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา,ขอนแก่น อุดรธานี ลำปาง กทม. : ข่มขู่นักเรียนว่าหากใครแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์จะตัดคะแนน และเชิญเข้าห้องปกครอง
- ร.ร. แห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย : สั่งห้ามจัดกิจกรรมและตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่น ไล่ให้ออกนอกประเทศไป หรือขู่ว่าครูมีสิทธิในการทำให้นักเรียนเรียนไม่จบ
- ร.ร. แห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ : ตบมือของนักเรียนที่กำลังบันทึกวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือ, โดนทำโทษด้วยการสั่งลุกนั่ง รวมถึงข่มขู่ด้วยวาจาและถ้อยคำรุนแรง เช่น จะโดนจำคุก
- ร.ร. แห่งหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ : ถ่ายรูปนักเรียนแล้วส่งไปกลุ่มแชทไลน์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมข่มขู่ว่าการที่เด็กเปิดเผยหลักฐานเรื่องการคุกคามของครูเป็นการหมิ่นประมาทครู
ก่อนหน้านี้ สพฐ. หน่วยงานสังกัด ศธ. ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เมื่อ 17 ส.ค. ขอให้ “เปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและปลอดภัยของนักเรียนโดยไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมชุมนุม” เพื่อลดบรรยากาศเผชิญหน้าระหว่างครู/ผู้บริหารสถานศึกษากับนักเรียน
ตัวแทน รมว.ศธ. ได้แจ้งต่อตัวแทนภาคีนักเรียนฯ ว่าทางกระทรวงมีนโยบายให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนอยู่แล้วในทุกประเด็น อาทิ การคุกคามในสถานศึกษา, หลักสูตรการเรียนการสอน, ทรงผม โดยให้นักเรียนนำเสนอประเด็นได้อย่างอิสระ ก่อนรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อ รมว.ศธ. ภายในวันที่ 15 ก.ย. นี้
แต่ถึงกระนั้นทางภาคีนักเรียนฯ ได้ตั้งคำถามว่าภายใต้ประกาศของ สพฐ. มีหลักประกันอะไรว่านักเรียนจะปลอดภัยจาก “ครูที่เห็นต่าง” เพราะสิ่งที่นักเรียนที่ร่วมแคมเปญ “ชู 3 นิ้วขณะร้องเพลงชาติ” ต้องเจอคือครูเดินเข้าไปแล้วตบศีรษะ หรือครูปัดโทรศัพท์มือถือจนหน้าจอตกแตก จึงอยากถามว่านักเรียนทำอะไรผิด พร้อมเรียกร้องให้ ศธ. กำหนดมาตรการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาภายในวันที่ 27 ส.ค. นี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน
สำหรับแพลตฟอร์มการรับเรื่องร้องเรียนที่ภาคีนักเรียนฯ นำมาใช้ ถูกพัฒนาโดยนักเขียนโปรแกรมระดับมัธยมและนักศึกษา ใช้เวลาราว 1 สัปดาห์เท่านั้น เพื่อเป็นช่องทางให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่คิดว่าตัวเองถูกข่มขู่คุกคามจากการแสดงออกทางการเมือง ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังภาคีนักเรียนฯ ผ่านระบบออนไลน์
ผู้ร้องเรียนต้องระบุข้อมูลเบื้องต้นว่าถูกละเมิดสิทธิโดยใคร เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐ หรือโดยประชาชนทั่วไป, ให้ชื่อสถานศึกษา/หน่วยงานที่ต้องการร้องเรียน, ระบุชื่อผู้ที่กระทำการละเมิดสิทธิของผู้ร้องเรียน พร้อมแนบวิดีโอหรือภาพประกอบคำร้อง โดยข้อมูลของผู้ร้องเรียนจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
จากนั้นภาคีนักเรียนฯ จะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นด้วยการสอบทานข้อมูลจากผู้ร้องเรียนผ่านระบบ open chat ก่อนส่งเรื่องร้องทุกข์-ร้องเรียนต่อไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในจำนวนนี้คือคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าจะส่งข้อมูลชุดแรกให้ กมธ.ได้ในวันที่ 27 ส.ค. นี้
นอกจากภาคีนักเรียนฯ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่แบบฟอร์มให้นักเรียนและนักศึกษาส่งเรื่องร้องเรียนมาเช่นกัน โดยพบว่าเพียง 3 วัน (17-19 ส.ค.) มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึง 103 กรณี
นายนฤเบศน์ รักษ์วิจิตร ประธานสูงสุดประจำ UIG และโฆษกประจำภาคีนักเรียนฯ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเยาวชนหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลานี้ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา และการรักษาสิทธิของเยาวชน แต่ตอนนี้มีเรื่องการเมืองเข้ามาทำให้เสียจุดที่จะโฟกัสไป เด็ก ๆ หลายคนยอมรับว่าตอนนี้ต้องพูดเรื่องการเมือง และมีความเสี่ยงสูง ไม่รู้จะติดคุกเมื่อไร แต่ก็จำเป็นต้องพูดเรื่องการเมือง เพราะการศึกษากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ