“สุริยะ” ปิ๊งไอเดียซื้อรถป้ายแดงใช้หักลดหย่อนภาษี





24 ส.ค.2563 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (กลุ่มจังหวัดอีอีซี) เพื่อติดตามงานตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 ว่าในวันที่ 25 ส.ค. 2563 ที่จะครม. กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ ในการกระตุ้นยอดซื้อในประเทศ โดยจะเสนอให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถใหม่ สามารถทำการขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เพื่อนำไปใช้กับค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีความสำคัญอย่างมากกับประเทศ

ขณะเดียวกันก็จะหารือในครม.เพื่อหาทางสนับสนุนการลงทุนเพิ่มเติมของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) อย่างเช่น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด ที่จะมีการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) ในประเทศไทยนั้น จะสามารถเข้าไปสนับสนุนในส่วนไหนได้บ้าง ทั้งนี้จะทำการเสนอที่ประชุมครม. ให้เห็นชอบการลงทุนโครงการสมาร์ท ปาร์ค เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งปัจจุบันจากรายงานของการนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.) พื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประกอบการหลายรายต้องการเข้าไปใช้

“อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่ผ่านมามียอดลดลงไปมาก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกชะลอตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ทั้งนี้รับรองว่าปีหน้าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้น ดูได้จากที่เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ทุนใหญ่จากจีนเข้าถือหุ้นในเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ที่ผลิตรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นการผลิตได้ต่อเนื่องในช่วงต้นปี 64 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมรถยนต์คึกคักมากขึ้น”นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวว่าความคืบหน้าของการถมทะเลโครงการเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคตว่า ปัจจุบันบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ที่จะมาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้ชะลอไปก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และการใช้พลังงานในประเทศลดลง แต่ทางรัฐบาลก็จำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่การถมทะเลต่อไป ซึ่งจะเหลือ 2 พื้นที่ที่อยู่บนบก เนื่องจากมีผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่านิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค มีมูลค่าการลงทุนระยะแรก ประมาณ 2,480.73 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าออกแบบแนวคิดโครงการและการจัดทำอีไอเอ และค่าดำเนินการก่อสร้าง เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล  มีความได้เปรียบในเรื่องของระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบขนส่งทางอากาศสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด  ระบบขนส่งทางบก อันได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทางด่วนมอเตอร์เวย์ เป็นต้น และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2564 โดยจะแล้วพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567

ขณะที่ในปีนี้ได้ลงนามร่วมทุนในรูปแบบบริหารธุรกิจในการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการที่เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยความคืบหน้าการก่อสร้างหลังได้รับใบอนุญาต ให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยองแล้ว ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งส่วนของการขุดลอกและถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

นายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ กล่าวว่าบริษัทวางเงินลงทุนแผน 5 ปี ตั้งแต่ 2563-2567 วางเงินไว้ที่ 20,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มลงทุนในปีนี้ 7,000 ล้านบาท พัฒนาโรงงานพ่นสีให้ทันสมัยและใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น และเชื่อมโยงกับโรงงาน 3 โรงในพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือน ธ.ค. 64 ขณะที่เงินในส่วน 13,000 ที่เหลือ จะใช้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างโรงงานและเพิ่มไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง PHEV , EV และ ไฮบริดจ์ โดยตั้งใจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นส่วนของผู้ผลิตในประเทศให้ได้มากกว่าที่บีโอไอกำหนดไว้ที่ 40%

ข่าวจาก Thaipost

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: