องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกาฯนักการเมือง พิพากษาจำคุก 1 เดือนปรับ4พัน “นางนาที รัชกิจประการ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน อันเป็นเท็จ โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี
เมื่อเวลา 11.00น. วันที่ 27 สิงหาคม ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา (ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์) คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 5/2562 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ร้อง นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ตามที่เมื่อวันที่ 9 ก.ค.62 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา5ปีนับ แต่วันพ้นจากตำแหน่งและลงโทษจำคุก1 เดือน ปรับ 4,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสองและมาตรา 119 นั้น
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีคำขอท้ายคำร้องขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 และมาตรา 167 แม้ขณะยื่นคำร้องมีการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ยังกำหนดให้การจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิมจึงเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดกรณีจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดมาบังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคหนึ่งอันเป็นการปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง
สำหรับมาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการบังคับทางการเมืองที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหายิ่งกว่ามาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดศาลย่อมมีอำนาจกำหนดมาตรการบังคับทางเมืองผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสองเมื่อผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ม.ค.57 โดยเป็นการยื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ 21 พ.ย.61 อันเป็นเวลาหลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้วผู้ร้องจึงมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาและยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่แสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ ที่ดิน 2 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังมูลค่ารวม 2,000,000 บาท และหนี้สินของคู่สมรส 4 รายการรวม 93,039,949 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนวนมากที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ไม่ทราบถึงการทำธุรกรรมของคู่สมรสและเป็นความผิดพลาดของเลขานุการนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ตระหนักถึงหน้าที่ที่ตนซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้กลไกการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่เกิดประสิทธิผลต่อการตรวจสอบ ข้อแก้ตัวตามอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้อที่ง่ายต่อการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิดจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษจำคุกและปรับผู้ถูกกล่าวหาโดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปีเหมาะสมแก่พฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้วองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง กรณีเข้ารับตำแหน่งขาดอายุความทางอาญาแล้ว จึงไม่อาจนำมาตรการ จำกัด สิทธิทางการเมืองมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ จึงแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า นางนาที รัชกิจประการ ผู้ถูกกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบเฉพาะกรณีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 32,33และมาตรา 34วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ