เปิดบทสนทนาของนักศึกษา กลุ่ม “ไทยภักดี” กับ “ประชาชนปลดแอก” ว่าด้วยท่อน้ำเลี้ยง-เพดาน-สิ่งศักดิ์สิทธิ์
คำประกาศ “1 ความฝัน” ในการมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะประชาชนปลดแอก” ได้ทำให้เกิดการรวมตัวของคนไทยอีกกลุ่มเพื่อทำภารกิจ “ดับความฝัน” ของฝ่ายแรก เพราะเห็นว่ามีความพยายามท้าทาย ก้าวล่วง และจาบจ้วงสถาบันฯ และทำให้ต่างฝ่ายต่างตกอยู่ในวังวนของวาทกรรม “ล้มเจ้า” และ “โหนเจ้า”
เยาวชนไทย 2 คนที่เกิดและเติบโตในประเทศเดียวกัน มีพื้นฐานทางครอบครัวใกล้เคียงกัน เป็นนักศึกษาเหมือนกัน กลับมี “3 นิ้ว” ไม่เท่ากัน
3 นิ้วของ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะประชาชนปลดแอก” สื่อถึงเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ
เธอยอมรับว่า แม้จุดเริ่มต้นอาจดูตลกที่มาจากตัวละครเอกของภาพยนตร์ The Hunger Game แต่การชู 3 นิ้วได้ถูกใช้เรื่อย ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการยืนหยัดต่อสู้ และบอกกับตัวเองและผู้อื่นว่า “เราคือคนเหมือนกัน ไม่ควรมีใครมากดทับเรา”
ขณะที่ 3 นิ้วของ เกียรติวงศ์ สงบ หรือลี ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “ไทยภักดี” สื่อถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เขาอธิบายว่า นิ้วโป้งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คอยประคับประคองเกื้อหนุนอีก 2 สถาบัน พลางแสดงท่าทางการหยิบจับสิ่งของซึ่งทำได้ไม่ถนัดนักหากปราศจากนิ้วหัวแม่มือ
มี “ท่อน้ำเลี้ยง” ไหม
แม้ต่างความคิด-ต่างความมุ่งหมายทางการเมือง แต่ทั้งคู่นั่งสนทนาอารยะกันได้เกินกว่าชั่วโมง โดยไม่ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา และเมื่อต้องชี้ขาดลำดับก่อนหลัง พวกเขาก็ตกลงกันได้ด้วยวิธีแบบบ้าน ๆ ที่เด็กไทยรู้จักดี นั่นคือ “เป่า ยิ้ง ฉุบ”
แต่ถึงกระนั้นคำถามข้อแรกที่ต่างฝ่ายต่างให้ความสนใจกลับตรงกันที่เรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” อันหมายถึงผู้สนับสนุนหลักทางการเงินในการทำกิจกรรมทางการเมือง
ภัสราวลี : เราโดนโจมตีเรื่องท่อน้ำเลี้ยงเยอะมาก อยากรู้ว่าฝั่งที่ชอบบอกว่าเรามีท่อน้ำเลี้ยง เขามองอะไร
เกียรติวงศ์ : ที่ผ่านมามันมีความเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกันอย่างที่เราเห็นได้ชัด เช่น สถานทูตอเมริกาดำเนินการสนับสนุนมหาวิทยาลัยนั้นมหาวิทยาลัยนี้ในการขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตย… ในการเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอกหรือประชาชนปลดแอกต้องมีองค์กรสนับสนุนงบเบื้องหลัง เพราะว่าม็อบธรรมศาสตร์ที่ผ่านมา (10 ส.ค.) ในเรื่องของแสง สี เวทีต่าง ๆ มันอลังการมาก หลายแสนหรืออาจจะแตะล้านเลย เขาก็เลยมองว่าถ้าเป็นความสามารถของนักศึกษาโดยตรงมันไม่น่าจะถึงขั้นนั้น
ภัสราวลี : อยากจะบอกตรงนี้เลยว่าถ้าฉันมีท่อน้ำเลี้ยงนะคะคุณ ป่านนี้ดิฉันคงได้เสื้อผ้าใหม่ รองเท้าใหม่ ดิฉันคงได้ยกเครื่องตัวเองไปหมดแล้วนะคะ ท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญมากตอนนี้ของเรามันคือประชาชนทั้งนั้นเลย คือประชาชนล้วน ๆ เลย เราหาทุนด้วยการเปิดกล่อง ขายเสื้อ ขายกระเป๋า นี่คือการหาเงินเข้าของเรา อย่างของประชาชนปลดแอกครั้งล่าสุด (16 ส.ค.) เราเปิดกล่องค่ะ เปิดเลขบัญชีโต้ง ๆ เลยว่าเราต้องการท่อน้ำเลี้ยงค่ะ เพราะเราไม่มีตังค์แล้ว ในการขับเคลื่อนทุก ๆ อย่างต้องใช้เงินมาก ถ้าเราไม่จัดให้มันใหญ่ ให้ส่งสารให้คนรับรู้ทั่วกันก็ไม่บรรลุผลที่เราจะสื่อไง
เกียรติวงศ์ : เป็นไปได้หรือไม่ว่างบไปลงที่แกนนำ แล้วพวกที่มาก็กลายเป็นเครื่องมือ
ภัสราวลี : โอ้ย ไม่มีค่ะ เราต้องการท่อน้ำเลี้ยงมาก ๆ เลยค่ะ ช่วยบริจาคโอนเข้าบัญชีค่ะ.. จริง ๆ เราก็อยากถามเหมือนกันว่ากลุ่มของลีมีท่อน้ำเลี้ยงไหม
เกียรติวงศ์ : ถ้าเราสังเกตในช่วงม็อบ กปปส. (ปี 2556-2557) เราจะเห็นว่ามีประชาชนมาบริจาคเยอะ อย่าลืมว่าคนพวกนี้ก็คือฐานประชาชนกลุ่มเดิมที่ว่ารักสถาบันฯ ประชาชนที่เขาพอมีหรือมีอยู่แล้วเขาก็บริจาค แต่ต้องบอกก่อนว่าไทยภักดียังไม่ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมแบบเยาวชนปลดแอกหรือประชาชนปลดแอก เราแค่ตั้งกลุ่มมาเพื่อจะประสานงาน รับเรื่องชาวบ้าน เปิดเพจ ไม่ได้ทำกิจกรรมเป็นม็อบต่างจังหวัด แทบไม่ได้ใช้เงินเลย… แต่ผมก็มั่นใจว่าหากวันหนึ่งเคลื่อนตัวเป็นม็อบประชาชน ประชาชนที่เขามีใจรักสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เขาก็คงช่วยทุกแรง
รัฐประหาร 57 จุดเริ่มต้นและจุดตัดทางการเมืองของ 2 นศ.
ภัสราวลี และ เกียรติวงศ์ เกิดและเติบโตในสังคมชนชั้นกลางที่พ่อแม่หาเลี้ยงชีพด้วยการประกอบอาชีพค้าขาย ในขณะที่ฝ่ายหญิงชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างชนชั้นบนกับชนชั้นล่างท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังรัฐประหาร 2557 ฝ่ายชายยังบรรยายถึงการแลกปลากับเพื่อนบ้านที่ จ.ตราด ระบายความสุขที่ได้จากสังคมเกื้อกูลและแบ่งปัน พร้อมยืนยันว่า “ความเป็นไทยเดิม” คืออนาคตประเทศที่อยากเห็น
ประสบการณ์ทางการเมืองของเกียรติวงศ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เกิดขึ้น 1 ปีก่อนการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะ “ผู้ชุมนุมนิรนาม” กับกลุ่ม กปปส.
ส่วนความสนใจทางการเมืองของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหานคร อย่างของภัสราวลี เกิดขึ้น 1 ปีหลังรัฐประหาร ภาพการจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรมการเมืองหน้าหอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2558 ทำให้คำถามผุดขึ้นในหัวของเด็กสาวว่าในฐานะคนไทยมีสิทธิเสรีภาพแค่ไหน และประชาชนอย่างเธอมีอำนาจอะไรบ้างในประเทศนี้
เมื่อต้องรับบทนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเสียเอง ความรู้สึกถูกกดทับ-คับข้องใจที่สั่งสมมาครึ่งทศวรรษจึงแปรเป็นแรงผลักให้ภัสราวลีกับเพื่อนเป็น “ฝ่ายเปิดเกม” แฟลชม็อบในนามของกลุ่ม “มหานครเพื่อประชาธิปไตย” ก่อนเข้าร่วมคณะประชาชนปลดแอกในเวลาต่อมา โดยมีเกียรติวงศ์กับพวกตามมาเป็น “ฝ่ายปฏิกิริยา”
“มี ‘ผู้ใหญ่’ หนุนอยู่ข้างหลังไหม” ภัสราวลีโยนคำถามตรง ๆ
คำตอบจากเกียรติวงศ์คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม คือผู้ใหญ่ที่อยู่ทั้งข้างหน้าและข้างหลังในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี
ใครควร “หยุดคุกคามประชาชน”
กลุ่มไทยภักดีเปิดตัวองค์กรเมื่อ 19 ส.ค. ประกาศ “3 ข้อเรียกร้อง” ที่มีเนื้อหาหักล้าง “3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ 1 ความฝัน” ของกลุ่มประชาชนปลดแอก
ในขณะที่แกนนำประท้วงต่อต้านรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้รัฐ “หยุดคุกคามประชาชน” ได้เกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง-ขุดประวัติ-ปั่นกระแส” ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การติดแฮชแท็ก “ตามหาลูกประยุทธ์” ในทวิตเตอร์ ทำให้เกียรติวงศ์ตั้งคำถามกลับไปว่าคณะประชาชนปลดแอกมีวิธีอย่างไรไม่ให้ผู้สนับสนุนไปคุกคามประชาชนด้วยกัน
ภัสราวลียอมรับว่า คนในสังคมบางส่วนอาจทำไม่ถูกต้อง แต่ไม่อาจจำกัดการคิดและการเลือกแสดงออกในฐานะปัจเจกบุคคลได้ ทว่าการออกมาเคลื่อนไหวของคณะประชาชนปลดแอกไม่ได้ต้องการพูดกับประชาชนด้วยกัน แต่มุ่งสื่อสารกับรัฐซึ่งมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน และถ้าติดตามคำปราศรัยของแกนนำในเวทีต่าง ๆ จะพบว่ามีการย้ำหลักการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นอยู่เกือบตลอด
“เราโดนเยอะมากค่ะ ไอ้พวกเด็กพวกนี้ ‘ชังชาติ’ ไอ้คำว่าชังชาติ เรารู้สึกว่าเจ็บปวด มาบอกได้ไงวะว่าเราชังชาติ ทั้ง ๆ ที่เราออกมา เรารักชาติมากเลยนะ และเราต้องการให้ชาติมันดีกว่านี้ แล้วเรารักชาติตรงไหน ซึ่งคำพวกนี้มันคือคำที่ถูกผลิตซ้ำ และมันบั่นทอนพวกเรามาก ๆ” นักกิจกรรมการเมืองหญิงเผยความในใจ
วาทกรรม “ล้มเจ้า” VS “โหนเจ้า”
แม้เป็นคนร่วมวัย แต่จินตนาการต่อ “ระบอบประชาธิปไตย” ของพวกเขาไม่ตรงกัน
คณะประชาชนปลดแอกชู “1 ความฝัน” ในการมี “ระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากมีษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้อย่างเปิดอก จริงใจ และพูดกันด้วยความเคารพ ซึ่งจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้สถาบันฯ มากขึ้น
“การที่คนตั้งคำถามแบบพยายามเสียดสี หรือตั้งคำถามแบบอ้อม ๆ แบบที่เราเห็นป้ายที่ออกมาตามม็อบ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันฯ เองก็เป็นสมการหนึ่งในปัญหาทางการเมือง… หนูมองว่าเราควรต้องหยิบยกปัญหาที่มันซุกอยู่ใต้พรมออกมาพูดถึงอย่างสาธารณะได้แล้วเพื่อเคลียร์ให้กระจ่าง เพื่อลดข้อครหาที่ตัวประชาชนจะมีต่อตัวสถาบันฯ” ภัสราวลีกล่าว
ในสายตาของผู้ร่วมจุดประกายแห่งความฝัน เห็นรัฐและคนบางกลุ่มพยายามใช้สถาบันฯ เป็นข้ออ้างโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเธอชี้ว่าเป็นการทำลายสถาบันฯ มากกว่า
“มันจะมีวาทกรรมว่าเราต้องการ ‘ล้มล้าง’ ซึ่งมันเป็นการกล่าวหาที่เรารับไม่ได้มาก ๆ เลย มันเป็นข้อกล่าวหาที่พวกคุณเข้าใจเราผิด พวกคุณไม่พยายามเข้าใจเราด้วยซ้ำ” ภัสราวลีตัดพ้อ
ขณะที่กลุ่มไทยภักดียืนยันการดำรงคงอยู่ของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หากไม่มีการพาดพิง จาบจ้วง พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องตั้งกลุ่มปกป้อง พร้อมระบุว่าตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อของวาทกรรม “โหนเจ้า” เช่นกัน
“ผมว่าเป็นคำนิยามที่คนพยายามจะสร้างวาทกรรมเพื่อลดคุณค่าของกลุ่มเรามากขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วเราไม่ได้โหน เราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่แล้ว” เกียรติวงศ์ระบุ
เปรียบสถาบันฯ เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”
เขาย้ำจุดยืนว่า เหตุที่ต้องออกมาพิทักษ์สถาบันฯ เพราะรับไม่ได้กับการก้าวล่วงด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และลืมรากเหง้าของสังคมไทยที่ผูกพัน เคารพนับถือ เทิดทูน หรืออาจถึงขั้นบูชาสถาบันฯ ประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์
“ทำไมถึงถือว่าสถาบันฯ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะสิ่งที่ท่านทำให้เกิดประโยชน์ไงฮะ ไม่ต่างจากเทวดา เหมือนเราขอพรเทวดาไปว่าขอให้น้ำไหล ขอให้หน้านี้ข้าวออกเต็มที่ ในหลวง ร. 9 ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์ แต่ละโครงการ เป็นที่ประจักษ์ว่าชาวบ้านเหมือนขอพรเทวดาแล้วได้ผลจริง ๆ เขาถึงเคารพนับถือบูชา ผมจึงออกมาปกป้องสถาบันฯ ตรงนี้ เพราะว่ามันมีการลามปามขึ้นเรื่อย ๆ จากรัชกาลปัจจุบัน ย้อนไป ร. 9 ร. 7 ร. 5 จนบางท่านลามปามไปถึง ร. 1” นักศึกษากลุ่มไทยภักดีกล่าว
เกียรติวงศ์ยังออกโรงปกป้องรัฐบาลด้วยว่า ไม่ได้กดขี่-ปิดกั้นการแสดงความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ตรงกันข้ามเป็นฝ่ายสนับสนุนด้วยซ้ำ
“นายกฯ ลุงตู่เป็นคนพูดเองว่าในหลวง ร. 10 ของเราทรงมีพระเมตตาไม่ให้ดำเนินคดีในมาตรา 112 กับผู้ที่มาแสดงความคิดเห็น ซึ่งทำให้ผู้แสดงความคิดเห็นมีมากขึ้น ผมว่านายกฯ เป็นตัวจุดทำให้มีการพูดถึงสถาบันกันมากขึ้น” เขาบอก
ข้อกฎหมายคือขีดจำกัดของ “เพดาน”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสมาทานอุดมการณ์ที่แตกต่าง ทำให้ระดับ “เพดาน” ในการพูดถึงสถาบันฯ ในที่สาธารณะของคนหนุ่มสาวคู่นี้ลดหลั่นกันไป
เพดานของนักศึกษาด้านกฎหมายฝ่ายกษัตริย์นิยมจำกัดไว้ที่ข้อกฎหมาย ตราบใดที่ไม่แตะสิ่งผิดกฎหมาย ก็ไม่มีใครจับกุมใครได้ภายใต้ระบบนิติรัฐ
ขณะที่นักศึกษาหญิงฝ่ายก้าวหน้าแนะให้แยกแยะระหว่างการมีกฎหมายกับการบังคับใช้ สิ่งที่เธอกับเพื่อนกำลังทำคือการปรับปรุงเครื่องมือเพื่อให้ทุกคนพูดคุยกันได้ด้วยหลักความจริงและเหตุผล และเชื่อว่า “ความฝัน” ที่นำเสนอไว้ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
ข้อดี-ข้อด้อยของ พล.อ. ประยุทธ์ ในมุมมองสลับขั้ว
ท้ายที่สุดเมื่อบีบีซีไทยขอให้ทั้งคู่ทดลองสลับข้างความคิดแล้วเพ่งพินิจไปที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทั้งคู่หันไปสบตากัน ก่อนระเบิดเสียงหัวเราะออกมาอย่างพร้อมเพรียง
ข้อด้อยของประมุขฝ่ายบริหารที่เกียรติวงศ์เห็นคือ “ความไม่สมดุล” ในการตัดสินใจ เพราะบางเรื่องไม่เด็ดขาด แต่บางเรื่องก็เด็ดขาดเกินไป
“หลาย ๆ คนที่ออกมาม็อบ สำหรับตัวผมมองว่าเขาพาดพิงเกิน แต่ยังไม่ถูกดำเนินการอะไร ก็เลยยังคิดยังแซวในกลุ่มกันเองว่าตกลงนายกฯ เชียร์ข้างใคร ผมไม่ได้มองว่าผมอยู่ข้างนายกฯ หรืออะไรนะ อุดมการณ์ผมคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งนายกฯ ก็ต้องฟังประชาชนตรงนี้ด้วย”
ส่วนข้อดีของผู้นำหน้าเดิมจากยุคยึดอำนาจถึงสืบทอดอำนาจตามความเห็นของภัสราวลีคือ ประสบความสำเร็จในการศึกษาของตัวเอง และมีลักษณะนิสัยเหมาะสมอย่างมากกับการรับราชการทหาร
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ