‘พล.อ.ประยุทธ์’ สั่งสำนักงาน ก.พ.-ก.พ.ร. ปรับโครงสร้างราชการ-จัดองค์กร นำระบบ ‘ดิจิทัล’ มาใช้ ลดจำนวนข้าราชการ หวังสร้าง ‘ระบบราชการใหม่’ ที่เหมาะสมกับอนาคตประเทศ ปรับการปฏิบัติงานให้สอดคล้อง New Normal คัดกลุ่มหัวกระทิร่วมปฏิรูปหน่วยงาน เผยปีงบ 64 งบบุคลากรรัฐแตะ 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม.รับทราบผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2563 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยพล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสั่งการและมอบหมายให้คณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงฯ รับไปดำเนินการรวม 16 ประเด็น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างราชการ การจัดองค์กร การสรรหาบุคคลเข้าเป็นข้าราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ซึ่งมีทั้งสิ้น 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมกันปรับปรุงระบบการทำงานใหม่ เช่น โครงสร้างราชการ การจัดองค์กร กำลังคนภาครัฐ การลดจำนวนข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ โดยนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงาน เพื่อให้เกิดระบบราชการใหม่ที่เหมาะสมกับอนาคตของประเทศ
2.ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เร่งผลักดันระบบ e-Service ให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสามารถให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
3.ให้มีการปรับปรุงระบบการสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่มีความสนใจเข้ารับราชการ โดยให้พิจารณาแนวทาง วิธีการ รวมไปถึงหลักเกณฑ์ ที่สามารถคัดเลือกบุคคลซึ่งมีความรู้ ความสามารถทักษะ คุณลักษณะที่เหมาะสมกับภารกิจ และตรงตามความต้องการส่วนราชการ นอกจากนี้ ให้พิจารณาขยายผลการบริหารและพัฒนากำลังคนคุณภาพด้วยการมอบหมายให้ปฏิบัติงานในส่วนราชการอื่นอีกหน้าที่หนึ่ง (Secondment)
4.ให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน (Work from Home) อย่างต่อเนื่อง และปรับให้เข้ากับการปฏิบัติงานภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบกับการให้บริการประชาชน และให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันกำหนดแนวทางการปฏิบัติรชการใหม่ เช่น การกำหนดวัน เวลา และสถานที่ปฏิบัติราชการ การเหลื่อมเวลาปฏิบัติราชการ การนับจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติราชการ
5.ให้ทุกส่วนราชการสนับสนุนให้กำลังคนคุณภาพของรัฐ เช่น กลุ่มนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) กลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาล กลุ่มผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย กลุ่มข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง เข้ามามีบทบาทในงานด้านการปฏิรูปของหน่วยงาน เช่น การร่วมปฏิบัติงานในกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (กลุ่ม ป.ย.ป.) ของกระทรวง
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากเอกสารงบประมาณปีงบประมาณ 2564 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาฯ พบว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคลกรภาครัฐ เป็นวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณปี 64 ที่มีวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท
ประกอบด้วย งบบุคลากร คือ เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ ในปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 635,928.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.3% ของวงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท เทียบกับปีงบ 63 ที่มีการจัดสรรงบบุคลากรในวงเงิน 635,522 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.8% ของวงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรงบกลาง ปีงบ 2564 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆสำหรับข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ เป็นวงเงิน 465,290.6 ล้านบาท ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท (ปีงบ 63 วงเงิน 71,200 ล้านบาท) 2.เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 5,008 ล้านบาท (ปีงบ 63 วงเงิน 4,940 ล้านบาท)
3.เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 300,435.5 (ปีงบ 63 วงเงิน 265,716.3 ล้านบาท) 4.เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 15,500 ล้านบาท (ปีงบ 63 วงเงิน 10,464.6 ล้านบาท) 5.เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 640 ล้านบาท (ปีงบ 63 วงเงิน 670 ล้านบาท) และ6.เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 69,707.1 ล้านบาท (ปีงบ 63 วงเงิน 62,780 ล้านบาท)
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ