เมื่อวันที่ 20 กันยายน รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนา เรื่องการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานหลังโควิด จัดโดยภาคีสังคมแรงงานสู้โควิด ว่า มาตรการเยียวยาจากภาครัฐได้สิ้นสุดในเดือนสิงหาคม เชื่อว่าตัวเลขว่างงานจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลหนึ่งที่น่ากังวลคือ ผลการศึกษาของธนาคารเอกชนรายหนึ่งที่ศึกษางบการเงินของสถานประกอบการจำนวน 4 แสนแห่ง พบว่า มีกว่า 38% มีปัญหาสภาพคล่องภายในปี 2564 และ 28% มีความเสี่ยง เปราะบาง โดยเป็นกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ประมง สวนสนุก ลูกจ้างจำนวน 11.8 ล้านคน มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ ลดเงินเดือน ตกงาน
รศ.ดร.กิริยากล่าวว่า เมื่อสถานประกอบการมีปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ต้องมีการเลิกจ้าง ดังนั้น หากรัฐไม่มีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานที่จะเป็นการประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาการจ้างงานเพื่อลดการเลิกจ้างที่สูงมากเกินไป โดยรัฐบาลต้องอุดหนุนร่วมจ่ายค่าจ้างกับนายจ้าง
“เรื่องนี้ต้องมีความระมัดระวัง คัดกรองนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการที่ต้องประสบปัญหาจริง เนื่องจากจะมีสถานประกอบการที่มีศักยภาพในการจ่าย และยังมีการผลิต ยังต้องการรักษาคนงาน แต่ต้องการได้ประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายจากเรื่องนี้ และเลิกจ้างคนงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ ที่จะสูญเสียงบประมาณ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะต้องยุติโครงการโดยทันที” รศ.ดร.กิริยากล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ติดลบ 12% การนำเครื่องจักรติดลบ 25% สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีการลงทุนใหม่ การฟื้นตัว การจ้างงานจะไม่ปรากฏในเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี เศรษฐกิจจึงจะกลับมาเช่นก่อนเกิดโควิด และขณะนี้ยังไม่ถือว่าได้ผ่านในช่วงต่ำสุด
นายธนิตกล่าวอีกว่า หลังโควิด หลายอาชีพจะหายไป ทักษะปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ในอนาคต ประสบการณ์มีค่าเป็นศูนย์ การลงทุนใหม่จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ดังนั้น การจ้างงานภาคธุรกิจภาคส่วนต่างๆ จะต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คนจะตกงานอย่างมากมาย
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ