1330 สายไหม้ แห่เช็กข้อมูลบัตรทองวันละกว่า 2 หมื่นราย สปสช.ย้ำสิทธิรักษายังคงเดิม
วันนี้ (21 กันยายน 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นรวม 82 แห่ง ซึ่งกระทบต่อผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทองกว่า 800,000 ราย ว่า ขณะนี้กำลังแก้ไขปัญหานี้อยู่ แต่ต้องย้ำว่า สปสช.ต้องยกเลิกคลินิกกลุ่มนี้ เพราะตรวจพบความไม่ชอบมาพากล ทั้งนี้ สปสช.เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่สามารถทำธุรกรรมกับคู่สัญญาที่ผิดสัญญาและทำผิดกฎหมาย จึงต้องยกเลิก ส่วนประชาชนที่มีสิทธิตามคลินิกเหล่านี้ สปสช.กำลังประสานและจัดหาที่ใหม่ให้ แต่ช่วงต้นๆ ก็มีความไม่สะดวกบ้าง ซึ่งกำลังเร่งแก้ไข ดังนั้น ต้องขออภัยในความไม่สะดวก จะรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด
“คนที่ทำผิดก็ขออย่าอ้างประชาชน อย่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เพราะท่านทำความเสียหายให้กับประเทศ นี่คือเงินภาษีประชาชน เงินรักษาประชาชน ยังคิดโกงกันได้ ก็ไม่รู้จะพูดยังไง นึกไม่ถึงว่าจะเลวได้ขนาดนี้ คนที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจริงๆ ก็คือกลุ่มนี้ที่เอาเงินประชาชนไปทุจริต ซึ่ง สปสช.กำลังแก้ไขปัญหานี้” นายอนุทิน กล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีการเบิกงบบัตรทองเกินความเป็นจริงรวม 82 แห่ง แบ่งเป็น รอบแรก 18 แห่ง รอบที่ 2 อีก 64 แห่ง ซึ่งการยกเลิกเป็นไปตามสัญญากำหนดไว้ เพราะตรวจพบว่ามีการเบิกเงินไม่ถูกต้อง แต่เมื่อยกเลิกก็จะเกิดผลกระทบกับประชาชนสิทธิบัตรทองรวม 8 แสนราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่อยู่ในคลินิกหรือหน่วยบริการที่ถูกยกเลิกไปนั้น ยังได้รับสิทธิบัตรทองเหมือนเดิม โดยกลุ่มนี้มีประมาณ 8 แสนราย จะเป็นกลุ่มสิทธิว่าง แต่ในที่นี้กลุ่มสิทธิว่างสามารถรับบริการคลินิกหรือโรงพยาบาล (รพ.) ใด ก็ได้ที่นอกเหนือจากคลินิกที่ถูกยกเลิกไป โดย รพ.หรือคลินิกนั้นๆ เมื่อให้บริการแล้วสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช.ได้ตามปกติ
“ขณะนี้ ได้แจ้งไปยังคลินิกและหน่วยบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกยกเลิกให้รับทราบเรื่องนี้แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ทั่วถึงจึงต้องขอย้ำประเด็นนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่องนั้น สามารถไปรับยาที่คลินิกหรือหน่วยบริการใหม่ได้ แต่หากมีการสอบถามเรื่องเวชระเบียน หรือประวัติการรักษา ล่าสุด สปสช.ได้หารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการประสานกับหน่วยบริการและคลินิกเอกชนพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ให้ทำเรื่องขอประวัติผู้ป่วยได้ด้วยการขอให้ผู้ป่วยกรอกใบยินยอม โดยจะมีเอกสารเงื่อนไขตามกำหนด คือ บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น เพื่อลดปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมาว่า มีประชาชนบางส่วนต้องเสียค่าใช้จ่ายเวชระเบียนจำนวน 150 บาท ให้แก่คลินิกเก่า เพื่อนำไปรักษาหน่วยบริการใหม่” ทพ.อรรถพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนหลายคนคิดว่าถูกตัดสิทธิบัตรทอง สปสช.จะมีการสื่อสารอย่างไร ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ประชาชนหลายคนยังไม่ทราบข้อมูล และทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าถูกตัดสิทธิบัตรทอง และมีการโทรมาสอบถามในสายด่วน 1300 จำนวนมากถึงวันละ 20,000 สาย เป็นสายตอบรับอัตโนมัติ 15,000 สาย และอีก 5,000 สาย เป็นการคุยกับเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่จะถามว่า ตนเองยังมีสิทธิบัตรทองอยู่หรือไม่และจะไปใช้บริการที่ใดได้บ้าง
“สายด่วน สปสช. โทร.1330 ปกติแต่ละเดือนจะมีคนโทรมาประมาณ 60,000 สาย แต่จากกรณีนี้แค่ 3 วันเฉลี่ยวันละ 20,000 สาย จึงทำให้ไม่สะดวก ต้องขออภัย ล่าสุดได้เปิดช่องทางผ่านเฟซบุ๊ก สปสช. ให้สามารถสอบถามมาได้ ผ่านข้อความได้ นอกจากนี้ สปสช.ได้รวบรวมคำถามหลัก 15-16 คำถาม ทั้งการตรวจสอบสิทธิต่างๆ โดยจะเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ ซึ่งท่านสามารถโทร.1330 และกดเลข 6 ก็จะเป็นการตอบคำถามหลักๆ ให้ก่อน” ทพ.อรรถพร กล่าวและว่า ส่วนการตรวจสอบสิทธิได้เปิดช่องทางไลน์ พิมพ์คำว่า สปสช.จะมีเมนูตรวจสอบสิทธิ หากคลิกเข้าไปพบชื่อสถานพยาบาล แสดงว่าสิทธิท่านเหมือนเดิม แต่หากไม่มีชื่อใดๆ แสดงว่าเป็นสิทธิว่าง ให้ติดต่อมาที่โทร.1330 ส่วนที่บางกลุ่มติดต่อไม่ได้ ต้องขออภัย เนื่องจากสายโทรเข้ามาจำนวนมาก
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ