เปิดชีวิต ความคิด ตัวตน และผลงาน อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล บุรุษผู้บุกเบิกการศึกษา พัฒนาเยาวชน ผู้ที่ช่วยประหยัดงบประมาณการศึกษาของประเทศ บนวิถีที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์นักพัฒนาเพื่อการศึกษาอย่างไม่หยุดยั้ง
จากยุคบุกเบิกก่อตั้งโรงเรียนเล็กๆ จนสามารถขยายสาขาโรงเรียนสารสาสน์ให้เติบโต กว้างไกล มีสาขามากมายทั่วประเทศ ยิ่งกว่านั้น ยังมุ่งมั่นสร้างการศึกษาให้ครบทุกระดับชั้นตั้งแต่ปฐมวัย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา
จากลูกชาวนา สู่เส้นทางอาชีพครู
หากพูดถึงอาจารย์ “พิบูลย์ ยงค์กมล” แล้วนั้น เส้นทางชีวิตกว่าจะมาถึงวันนี้ กล่าวได้ว่า ผ่านเรื่องราวที่น่าจดจำมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงชีวิตวัยเยาว์ตอนเป็นนักเรียน หรือช่วงชีวิตที่เริ่มเป็นครูและอบรมสั่งสอนลูกศิษย์มานับไม่ถ้วน จนกระทั่งช่วงชีวิตที่ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสารสาสน์พิทยา ที่ปัจจุบัน สามารถขยายสาขาได้มากถึง 45 แห่ง
“ผมเป็นเด็กบ้านนอก ลูกชาวนา ครอบครัวเป็นสัตบุรุษวัดนักบุญมาการีตา ต.หนองกบ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ผมได้รับการศึกษา โดยได้ไปเรียนที่บ้านเณรบางนกแขวก จ.สมุทรสงคราม เรียนอยู่ที่นั่นจนกระทั่งจบชั้น ม.6
“พอจบชั้น ม.6 แรกเริ่มเดิมทีคิดจะไปบวช ผมก็เรียนชั้นปรัชญาที่บ้านเณร สมัยนั้นเราเป็นวัยรุ่นแล้ว แต่ก็ตั้งใจเรียนทั้งวัน ทั้งวิชาปรัชญา ซึ่งใช้ภาษาละตินในการเรียนด้วย วิชาดนตรีก็มีพระสังฆราชมีคาแอล บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นผู้สอน แต่วิชาที่หนักมากเลยก็คือภาษาอังกฤษ ผมต้องเรียนวิชา Learning by Thinking คือการเรียนด้วยการคิด แต่เมื่อมาเรียนจริงๆ ผมกลับไม่ได้คิดเลย เพราะเน้นท่องจำบทสนทนาเป็นส่วนใหญ่ ระยะแรกๆ ผมก็พอจำได้ แต่ต่อมาก็เริ่มเรียนไม่ไหว
“พอทางผู้ใหญ่ท่านทราบว่าเรียนไม่ไหว ท่านก็ได้ให้ผมไปพบพระคุณเจ้า เปโตร คาเร็ตโต ซึ่งพระคุณเจ้าเปโตร ก็ได้ส่งให้ผมไปเป็นครูที่โรงเรียนดรุณานุกูล ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นครูอยู่ที่นั่นได้ 2 เทอม ก็ขอลาออก เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อจะเรียนต่อทางด้านการก่อสร้าง แต่เนื่องจากไม่มีเงิน ก็เลยไม่ได้เรียนตามที่ตั้งใจ”
อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้นประจวบเหมาะกับพี่สาวของอาจารย์พิบูลย์เป็น แม่ครัวอยู่กับคุณครูมารี โรส ซึ่งเป็นซิสเตอร์คณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ (คลองเตย) ที่โรงเรียนฟาติมา ถนนตรอกจันทร์ และโรงเรียนฟาติมากำลังอยู่ในช่วงแยกออกไปตั้งโรงเรียนเปรมฤดี
“ผมจึงได้ไปสมัครเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนเปรมฤดี โดยผมเป็นคนที่สมัครเป็นครูของโรงเรียนเปรมฤดีคนแรกเลยก็ว่าได้ เพราะในสมัยนั้น คนที่จะเป็นครูนั้น ค่อนข้างหายาก คุณครูมารี โรสจึงรับผมเข้าทำงานทันที
“ช่วง 2-3 ปีแรก ผมได้ไปเรียนเพื่อสอบเทียบได้วุฒิ ม.8 ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สองปีแรกสอบไม่ผ่าน แต่พอปีที่สามสอบผ่าน จากนั้นก็ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะนิติศาสตร์ แต่มาตัดสินใจว่าจะเรียนเป็นครู จึงได้ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรแทน
“ผมใช้ชีวิตการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนเปรมฤดี 9 ปี พอ พ.ศ.2499 ก็ขอลาออก”
กำเนิด “สารสาสน์” ด้วยวิสัยทัศน์แบบ “Think Big”
หลังจากสั่งสมประสบการณ์บนเส้นทางสายครูมากว่าสิบปี อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล ก็เกิดความคิดในลักษณะ Think Big คือคิดการใหญ่ เกิดไอเดียว่าอยากสร้างโรงเรียนของตนเองขึ้น จึงเริ่มต้นด้วยการชักชวนเพื่อนครูที่รู้จักกัน มาร่วมลงขัน โดยกำหนดจำนวนไว้ที่คนละ 10,000-30,000 บาท ขณะที่อาจารย์พิบูลย์เอง ได้ลงทุนไปเป็นจำนวน 20,000 บาท
“ผมคิดการใหญ่ อยากสร้างโรงเรียน และผมเคยฟังมาว่าการจะสร้างบริษัท หากทำคนเดียวไม่ได้ ให้หาหุ้นส่วน ผมก็เลยชวนเพื่อนๆ มาทำโรงเรียนและร่วมกันลงทุน โดยผมลงทุนไป 20,000 บาท และบังเอิญมีลูกศิษย์คนหนึ่งบอกว่าครอบครัวเขามีที่ทางอยู่แถวถนนสาธุประดิษฐ์ ผมก็เลยได้ไปคุยกับพ่อของลูกศิษย์คนดังกล่าว เพื่อขอเขาเช่าที่ทำโรงเรียน เป็นจำนวน 2 ไร่ 1 งาน จนกระทั่งปี พ.ศ.2507 จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนสารสาสน์พิทยาขึ้นมา เป็นโรงเรียนแห่งแรกของโรงเรียนในเครือสารสาสน์ทั้งหมด
“การทำโรงเรียนสารสาสน์พิทยาในระยะแรกเริ่ม ผมต้องรับผิดชอบแทบทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นครูใหญ่ สอนหนังสือ ออกข้อสอบ พิมพ์ข้อสอบ ทำเองทุกอย่าง สุดท้ายเพื่อนก็ขายหุ้นแยกตัวออกไป ทำให้เหลือผมคนเดียวที่รับหน้าที่ทำโรงเรียนเรื่อยมา”
บุกเบิกโรงเรียนสองภาษา แห่งแรกของเมืองไทย
โรงเรียนสารสาสน์พิทยา นอกจากจะเป็นโรงเรียนแห่งแรกของโรงเรียนในเครือสารสาสน์ทั้งหมดแล้ว ยังถือเป็นโรงเรียนแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ทำการทดลองจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา (Bilingual Programme) ด้วย และอาจารย์พิบูลย์ถือเป็นผู้ที่ได้ทดลองจัดการสอนแบบนี้ขึ้นเป็นบุคคลแรกๆ ในเมืองไทยก็ว่าได้
“ผมทำแผนกสองภาษา (Bilingual Programme) ตอนที่ผมอายุได้ 60 ปี ซึ่งการที่ทำแผนกสองภาษา (Bilingual Programme) เนื่องมาจากหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเลิกรากับสามีแล้วย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย ได้ส่งลูกเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสารสาสน์พิทยา ผมก็ให้เธอเป็นคนคอยฝึกฝนภาษาอังกฤษให้ครูของเรา แล้วเราก็จัดค่ายภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนของเราขึ้น
“หลังจากนั้น เธอก็ได้เสนอความคิดให้กับผมว่า น่าจะเปิดโรงเรียนเป็นระบบสองภาษาแบบที่อเมริกา ซึ่งตัวเธอเคยอาศัยอยู่ที่บอสตัน โรงเรียนที่ลูกของเธอเรียน ก็เปิดเป็นระบบสองภาษาคืออังกฤษและสเปน เพราะที่นั่นมีชาวสเปนอาศัยอยู่เยอะ ผมจึงได้ส่งครูของเราไปดูงานที่โรงเรียนนั้น เมื่อกลับมา ก็มีครูของโรงเรียนที่บอสตันมาวางแผนการจัดการการเรียนการสอนให้เรา ตอนแรกผมจะเปิดเป็นโรงเรียนนานาชาติ แต่ทางการไม่อนุญาต
“สุดท้าย ผมจึงเปิดเป็นโรงเรียนสองภาษาขึ้นเป็นคนแรกและแห่งแรกของเมืองไทยก็ว่าได้ และเนื่องจากตอนนั้นโรงเรียนสองภาษากำลังเป็นที่ต้องการของเมืองไทย จึงทำให้เราประสบผลสำเร็จค่อนข้างเร็ว”
ต่อยอด ขยายสาขา พัฒนาไม่หยุดยั้ง…
จากวันแรกที่เริ่มก่อตั้งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โรงเรียนในเครือสารสาสน์เติบโตและพัฒนา ขยายสาขาได้มากถึง 45 แห่ง มีทั้งแผนกสามัญ แผนกสองภาษา แผนกสองภาษาอาเซียน แผนกการจัดการเรียนการสอนแบบนานาชาติ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยถึงอุดมศึกษา ในปี พ.ศ.2562 มีนักเรียนในเครือสารสาสน์ทั้งหมด 91,500 คน
“หลังจากที่ผมเปิดโรงเรียนสารสาสน์พิทยาได้ 5 ปี ผมก็เริ่มมองว่า ที่ดินที่เราทำโรงเรียนอยู่นั้น เป็นที่ที่เราเช่าเขาอยู่ สถานการณ์มันบังคับให้เราต้องดิ้นรน ดังนั้น ผมจึงชวนพี่สาวซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา มาร่วมหุ้นกัน เซ้งที่ดินของกรมธนารักษ์ 4 ไร่ 44 ตารางวา แล้วทำโรงเรียนแห่งที่สองคือโรงเรียนสารสาสน์พัฒนา ในปี พ.ศ. 2512
“นอกจากนี้ ผมยังช่วยทำโรงเรียนต่างๆ ทั้งช่วยสร้างให้ ช่วยบริหารให้ เช่นโรงเรียนวรมงคล ที่คุณมงคล วังตาล ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2512 พร้อมๆ กับโรงเรียนสารสาสน์พัฒนาของผม ท่านได้เสียชีวิตลง แล้วได้มอบโรงเรียนวรมงคลให้กับทางสังฆมณฑลราชบุรี คุณพ่อเปาโล (ยวง อัครสาวก) ชุนเอ็ง ก๊กเครือ ท่านขึ้นมาดูโรงเรียนที่ทางคุณมงคลมอบไว้ให้สังฆมณฑลราชบุรี แล้วพูดคุยกับผมในฐานะลูกวัดบางตาลเหมือนกัน และผมก็เป็นลูกศิษย์ เรียนภาษาละตินกับท่าน เนื่องจากสถานการณ์ที่โรงเรียนวรมงคลในตอนนั้น ก็ค่อนข้างลำบาก ผมจึงอาสาขอช่วยทางสังฆมณฑลดูแลโรงเรียนวรมงคลให้
“ท่านก็นำเรื่องเข้าที่ประชุมของสังฆมณฑล พระสังฆราชเอก ทับปิง ซึ่งเป็นเณรรุ่นพี่ของผม ท่านก็อนุญาตให้ผมช่วยทำ ผมช่วยทำอยู่ 3 ปี ในที่สุดทางสังฆมณฑลก็ขอร้องให้ผมทำต่อเรื่อยมาเป็นเวลาประมาณ 25 ปี ก่อนถอนตัวออกมา แล้วคืนให้กับทางสังฆมณฑล แต่ในปัจจุบัน ผมก็กลับเข้าไปช่วยสังฆมณฑล ดูแลโรงเรียนวรมงคลอีกครั้ง หรืออย่างโรงเรียนกนกอาชีวะศึกษา ที่ลูกของเจ้าของโรงเรียนสนิทกับผม เขาก็ยกให้ผมทำ ผมเลยเปลี่ยนมาเป็นวิทยาลัยสารสาสน์บริหารธุรกิจกนกอนุสรณ์
“ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้ขยายกิจการโรงเรียนในเครือสารสาสน์เรื่อยมา อย่างล่าสุด ผมได้ไปสร้างที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี คลอง 10 จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางบัวทองและอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี หรือล่าสุดที่จะมีอุดมศึกษาเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งผมเพิ่งไปซื้อเขามาเมื่อเดือนกรกฎาคม คือสถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ และจะทำที่พระราม 2 ให้เป็นสถานที่ของคณะและสาขาต่างๆ ของที่นี่ด้วย ผมยึดหลักไปหาประชาชน ประชาชนจะได้ไม่ต้องเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อมาหาเรา”
“F2Q” หลักการสู่ความสำเร็จ
ถ้าถามว่า ด้วยปริมาณสาขาที่ขยายออกไปมากมายขนาดนี้ อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล ยึดหลักอะไรในการบริหารเพื่อให้ปริมาณควบคู่กับไปคุณภาพ อาจารย์พิบูลย์ให้คำตอบว่า ใช้หลัก F2Q
“หลักการบริหาร เราก็ต้องทำตามนโยบายเดียวกัน เพราะสิ่งที่เรากลัวคือคุณภาพ ถ้าเราไม่มีคุณภาพ เด็กนักเรียนก็จะลดลง เราต้องมีคุณภาพ โดยจุดเด่นและอัตลักษณ์ของสารสาสน์ หลักๆ เลยก็คือ F2Q
“F คือ Fraternity คือ ความเป็นพี่น้อง เอื้ออาทรกัน มีความรักต่อกัน
“ส่วน Q ตัวแรกคือ Quality หมายถึงคุณภาพ และ Q ตัวที่สอง คือ Quantity ได้แก่ปริมาณ
“หลักการก็คือว่า ถ้าเรามีคุณภาพ ไม่มีปริมาณ ก็ไปไม่ได้ หรือมีปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ ก็ไปไม่รอด ก็เหมือนกับอาหาร ถ้ามีปริมาณเยอะ แต่ไม่มีคุณภาพ ก็ใช่ว่าจะดีต่อสุขภาพ ดังนั้น เราต้องมีควบคู่กันทั้งหมด ไม่อย่างนั้น เราอยู่ไม่ได้
“นอกจากนี้ผมยังมีแนวคิดว่าอยากให้สารสาสน์เป็น ‘หนึ่งโรงเรียน หนึ่งรีสอร์ท’ โรงเรียนเราต้องมีต้นไม้ร่มรื่น อย่ามีอะไรผุพัง ต้องสะอาด สวยงาม น่าอยู่ ปลอดภัย แต่ไม่ใช่ว่าโรงเรียนสวยงาม แต่วิชาการไม่เอาไหนเลย เด็กความประพฤติไม่ดีเลย อะไรแบบนี้ก็ใช้ไม่ได้ ต้องดีพร้อมหมดทุกอย่าง ยิ่งเราเป็นสถานอบรมคน เราก็ต้องเป็นตัวอย่าง เป็นแม่แบบ เราต้องดีทั้งวิชาการ และดีทั้งความประพฤติ”
อย่างไรก็ตาม กว่าจะสำเร็จเฉกเช่นทุกวันนี้ ใช่ว่าไม่มีอุปสรรค และอาจารย์พิบูลย์ก็ยอมรับว่า “การทำโรงเรียนมีปัญหา และมีอุปสรรคเยอะมาก”
“ถ้าเราไม่รู้อะไร เราก็ต้องพยายามเรียนรู้ทั้งหมด ตั้งแต่การก่อร่างสร้างตึก เราต้องเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องปูน เรื่องหิน เรื่องทราย เรื่องเหล็ก ฯลฯ การที่ผมต้องเรียนรู้ เพราะการสร้างตึก ถ้าเราไม่มีความรู้ อาจจะเสี่ยง ทำให้ตึกพัง ตึกอยู่ได้ไม่นานก็พังหมด แต่ถ้าเราเรียนรู้ จะทำให้เราควบคุมการดำเนินการก่อสร้างให้มีคุณภาพ
“การทำโรงเรียนมีปัญหาและอุปสรรคเยอะมากนะ ไม่ใช่ไม่มี ถามว่าเหนื่อยไหม ก็มีบ้าง แต่ในเมื่อผมทำขึ้นมาแล้ว ผมไม่ท้อโดยเด็ดขาด ยังไงก็ต้องทำให้เต็มที่จนสุดความสามารถ”
ความสำเร็จของลูกศิษย์ คือความสุขอันสูงสุด
ณ วันนี้ กล่าวได้ว่า ปณิธานและความพยายามของอาจารย์พิบูลย์ในการพัฒนาและบริหารจัดการการศึกษา ประสบผลสำเร็จงดงาม เป็นปูชนียบุคคลต้นแบบนักการศึกษา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ทำมา อาจารย์พิบูลย์เผยว่า ส่วนหนึ่งนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานเนื่องในวันเด็ก ปี พ.ศ.2523 มีใจความว่า “เด็กต้องเรียนความรู้ อบรมความดี”
“ผมว่าประโยคที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสนั้น ลึกซึ้งมาก และวิเศษที่สุด เป็นพระบรมราโชวาทที่ให้ทั้งเด็กและครู ผมมองว่าเป็นหัวใจของการศึกษาที่ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย สิ่งที่ผมฉุกคิดจากพระบรมราโชวาทดังกล่าวนั้นคือ ใครกันล่ะ ที่จะเป็นคนสอนความรู้ให้เด็ก ก็ “ครู” ยังไงล่ะ แล้วใครกันล่ะต้องอบรมความดี ก็ “ครู” ยังไงล่ะ ดังนั้น ครูก็คือบุคคลซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวอย่างให้กับเด็กๆ”
เมื่อถูกถามว่า… เวลาที่มองเห็นความสำเร็จของโรงเรียน มองเห็นเด็กๆ ที่กำลังศึกษา หรือมองเห็นเด็กที่จบการศึกษาออกไปแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง อาจารย์พิบูลย์ตอบด้วยสีหน้าเปี่ยมด้วยรอยยิ้มอิ่มใจ
“ส่วนตัวผมชื่นใจและดีใจนะ ถึงแม้เราจะอยู่ภายนอก เหมือนเป็นคนดูแลฉาก คอยส่งเสริม เป็นกำลังใจให้กับเด็กๆ อย่างเวลาที่มีงานโรงเรียน ทางผู้อำนวยการโรงเรียนเขาก็จะมาเล่าว่า มีศิษย์เก่ากลับมาและเล่าให้เด็กนักเรียนโรงเรียนของเราฟังว่าเขาได้อะไรจากโรงเรียนนี้บ้าง ยกตัวอย่าง เช่น นักเรียนทุนคนหนึ่งที่วันนี้เป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ เขากลับมาและขอบคุณโรงเรียนที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไป เขาบอกว่า เรียนที่นี่ ได้ทั้งระเบียบวินัย ได้ทั้งภาษา ได้ทั้งทุนการศึกษา จนทำให้เขาสามารถไปถึงฝั่งฝัง
“ทุกวันนี้ เวลาที่ผมเห็นเด็กๆ ที่ผมเคยสอน เขาประสบความสำเร็จ ได้เห็นลูกศิษย์ลูกหาเขาเจริญรุ่งเรือง เป็นทนายก็มี เป็นหมอก็มี เป็นทหาร ตำรวจก็มี เรียกว่ามีทุกสาขาอาชีพ หรือเวลาที่เราได้เห็นครูในโรงเรียนมีความสุข รู้สึกสบายใจ เราก็หายเหนื่อย
“ผมรู้สึกว่า มันคุ้มค่ากับที่เราเหนื่อยมา ผมแอบภูมิใจอยู่เงียบๆ เหมือนกันนะว่า ดีจังเลย เราหว่านพืช แล้วพืชเจริญงอกงาม”
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ