พนักงานกว่า 30 คนเคว้ง โรงงานปิดประตูล็อกโซ่ ไม่ให้เข้าทำงาน ประกาศปิดฟ้าผ่า ไม่จ่ายเงินชดเชย บางคนไม่ได้เงินเดือนกว่า 4 เดือน
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์แห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ม.3 ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี กลุ่มพนักงานกว่า 30 คน ได้รวมตัวเรียกร้องประท้วงผู้บริหารบริษัท จากการปิดโรงงานโดยไม่บอกล่วงหน้า และจ่ายเงินชดเชยไม่ครบตามจำนวน มีพนักงานบางคนไม่ได้รับเงินเดือนมานาน 4 เดือน และส่วนใหญ่ทางโรงงานยังคงค้างเงินเดือนจ่ายไม่ครบ และเงินสวัสดิการตามที่ตกลงไว้
โดยการพูดคุยกันระหว่างพนักงานกับผู้บริหารทำท่าจะบานปลายเนื่องจาก ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นที่แตกต่าง สอบถามผู้บริหารคือ น.ส.จันทร์ อายุ 58 ปี ตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ถึงสาเหตุที่สั่งหยุดและออกประกาศพิมพ์ใส่กระดาษ เอ 4 ข้อความระบุว่า ทางบริษัทฯ ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบทางการเงิน ประกอบกับมีพนักงานบางคนปล่อยข่าวทำให้ทางบริษัทเสียหาย ทำให้ขาดความเชื่อมั่นจากบริษัทคู่ค้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากเดิมที่เคยมีเครดิต แต่ต้องมาจ่ายเงินสดเพื่อชำระค่าวัตถุดิบทันที และสั่งจ่ายเงินเดือนล่าช้าในเดือน ส.ค. และก.ย. 63 จึงขอปิดกิจการ เพื่อหาทางจัดการปัญหา และจะแจ้งให้ทราบภายหลัง
ทางพนักงานเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยให้ แต่ยังไม่สามารถติดต่อกับผู้บริหารที่เป็นชาวญี่ปุ่นที่ป่วยและกำลังรักษาตัวอยู่ได้ ประกอบกับช่วงนี้เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศยังไม่สะดวก จากนั้นผู้บริหารคนดังกล่าวได้เดินขึ้นรถและขับออกไปจากบริเวณที่มีการประท้วง ต่อหน้าต่อตาบริษัทคู่ค้าที่ทยอยเดินทางมาเพื่อรับชิ้นงานจากหลายๆ บริษัท
ด้านนายทวีทรัพย์ โพธิระ หนึ่งในกลุ่มของพนักงานที่กำลังตกงานได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนจะเลิกงาน ทางผู้บริหารเรียกพนักงานไปประชุมเรื่องทั่วๆ ไป พอรุ่งเช้าพนักงานจะเข้าทำงานปกติต่างก็ต้องตกใจ เนื่องจากเห็นข้อความประกาศแจ้งปิดโรงงาน ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องแจ้งล่วงหน้าให้พนักงานทราบ พร้อมกับจ่ายเงินค่าจ้าง สวัสดิการ และเงินชดเชยตามอายุงาน ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็มีอายุงานไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป จริงๆ แล้วมีพนักงานที่ทำงานในโรงงานนี้เพียงแค่ 20-30 คน เงินชดเชยที่พนักงานสมควรจะได้รับก็ตกคนละ 1-2 แสนบาท ถือว่าไม่เยอะ
“พนักงานไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินเลย อยู่ๆ ก็มาปิดโรงงานหนีแบบนี้ทำให้พนักงานไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่นได้นอกจากถูกลอยแพ และคงไม่ได้เงินชดเชย ส่วนขั้นตอนต่อไปก็คงไปปรึกษากับนิติกรของศาลแรงงาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายหาทางเอาผิดกับทางบริษัท ให้จ่ายเงินชดเชยตามสิทธิ์ที่พึงจะได้” นายทวีทรัพย์ กล่าว
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ