ค้าปลีกชี้ ฟื้นมาตรการช้อปช่วยชาติ 15,000 บาทน้อยเกินไป แถมห้ามซื้อสินค้าแบรนด์เนม เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ขึ้น ด้านศบศ. หวังดึงกำลังซื้อคนเสียภาษี 3-4 ล้านคน “ทีเอ็มบี” แนะจับกลุ่มได้รับผลกระทบจากโควิดตํ่า
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายรอบใหม่ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศบศ.” พิจารณาในวันที่ 7 ตุลาคม 2563 นี้ โดยจะใช้มาตรการภาษีในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกลุ่ม เป้าหมาย 3-4 ล้านคน ลักษณะเดียวกับมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้ 750 บาท
ทั้งนี้จะมีการกำหนดสินค้าและบริการที่จะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ อาทิ ร้านอาหาร ค่าที่พักโรงแรม ร้านสปา ร้านค้าชุมชน และสินค้าโอท็อปรวมไปถึงสินค้าในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ด้วยยกเว้นสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแบรนด์เนม สุรา และยาสูบเพื่อให้เม็ดเงินการใช้จ่ายลงสู่ระบบโดยเร็ว และมีผลต่อการจ้างงานของแรงงานภาคต่างๆ ให้มากที่สุด
“ชื่อมาตรการจะมีการเปลี่ยนไปจากเดิมให้ตรงกับการกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งแนวทางอาจจะเป็นทั้งรูปแบบช้อปช่วยชาติ หรือรูปแบบของการคืนเงิน Cash back ก็ได้ แล้วแต่ศบศ.จะตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นรูปแบบช้อปช่วยชาติจะทำให้รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ และสามารถทำได้เลย เพราะมีแพทเทิร์นเดิมที่เคยมีเอามาปรับใช้ได้เลย”
อย่างไรก็ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดวงเงินที่สามารถนำค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงมาลดหย่อนภาษี แต่ไม่เกิน 15,000 บาทนั้น ถือเป็นวงเงินที่เหมาะสม เนื่องจากหากเพิ่มวงเงินลดหย่อนสูงกว่านี้ อาจะทำให้กระทบต่อเป้าการจัดเก็บของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2564 ได้ ซึ่งในปีหน้า รายได้ภาษีจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้อยู่แล้ว โดยในปีงบประมาณ 2564 กรมสรรพากรตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.085 ล้านล้านบาท
“หมื่นห้า” น้อยเกินไป
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการช้อปช่วยชาติครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยกำหนดให้นำค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้นั้นมองว่าน้อยเกินไป ควรกำหนดตัวเลขที่สูงกว่านั้นหรือไม่กำหนดเลยก็ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการจับจ่ายซื้อสินค้า และเกิดเงินสะพัดได้อย่างเต็มที่
“การกำหนดให้ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จากจำนวนผู้เสียภาษี 4 ล้านคน จะมีเงินสะพัด 60,000 ล้านบาท แต่หากประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมเพียงกึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 2 ล้านคน จะมีเงินสะพัดราว 30,000 ล้านบาท แต่แท้จริงแล้วในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง มีจำนวนกว่า 6 ล้านคน หากเปิดกว้างให้ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 50,000 บาท หรือไม่จำกัดจำนวน และมีผู้เข้าร่วมเพียง 1.5 ล้านคน ก็จะมีเงินสะพัดอย่างตํ่า 75,000 ล้านบาท หากมีผู้เข้าร่วมยิ่งมาก ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 กลับมาคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
“แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้คือ ทำอย่างไรให้คนมีกำลังซื้อสูงๆ ซึ่งมีกว่า 6 ล้านคนออกมาใช้จ่ายให้มากๆ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยดึงคนกลุ่มนี้ออกมาแต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องวงเงิน ซึ่ง 15,000 บาทต่อคนถือว่าน้อยเกินไป”
ขณะที่ข้อยกเว้น ห้ามซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือแบรนด์เนมต่างๆ นั้น พบว่าในปี 2557 คนไทยที่นิยมท่องเที่ยวต่างชาติ และซื้อสินค้าแบรนด์นมกลับมาสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาทในปี 2561 ซึ่งในปีนี้พบว่า กลุ่มคนดังกล่าวไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ และมีกำลังซื้อพร้อมใช้จ่าย หากรัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ เชื่อว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดได้มากมาย
อ่านเพิ่มเติม : thansettakij.com/content/normal_news/451881
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ