จ่อหาทางยืด “พักชำระหนี้” จาก 6 เดือน เป็น 2 ปี ผวาผลกระทบ หลังครบกำหนด “รมว.สุริยะ” รุดคุยภาคเอกชน กดดัน “ธนาคารแห่งประเทศไทย”
วานนี้ (6 ต.ค.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าเร็วๆ นี้จะหารือกับภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงข้อเรียกร้อง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืดอายุมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ภาคธุรกิจออกไปอีก 2 ปี จากที่จะสิ้นสุดเดือนต.ค.นี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องหลังได้รับผลกระทบจาก โควิด-19
“เอสเอ็มอีค่อนข้างประสบปัญหาสภาพคล่องมากที่สุด จึงต้องการให้ ธปท.ยืดเวลาชำระหนี้ออกไป 2 ปีเพราะเห็นว่า โควิด-19 ยังแพร่ระบาดในต่างประเทศมากอยู่ ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยว่าต้องช่วยในกลุ่มที่เขาไปได้ แต่เพราะโควิด-19 ทำให้แย่ ซึ่งกลุ่มที่แย่อยู่แล้วโอกาสรอดน้อย หรือประวัติไม่ดีก็ต้องดู ต้องมาหารือกันถึงปัญหาทั้งหมดให้ได้ข้อสรุป และอาจยื่นข้อเสนอผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่อไป” นายสุริยะ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ทำโครงการพัฒนาเอสเอ็มอีด้านต่างๆ ที่ไม่ได้เน้นเพียงด้านการเงิน เมื่อสินค้าจำหน่ายได้ ปัญหาด้านการเงินก็จะหมดไป ถึงแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ว่าล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้ศึกษาไว้ 2 แนวทางทั้งการลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วน(CKD) และรถยนต์สำเร็จรูป เพื่อให้ราคารถอีวีถูกลง จูงใจให้เกิดการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้น
“โมเดลนี้อยู่ที่ว่าเราอยากเห็นราคารถเท่าใด หากต้องการให้เท่ากับรถยนต์ปัจจุบันที่ 6-7 แสนบาท ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าภาษีควรอยู่ที่เท่าใดเพื่อให้ราคารถถูกลง สุดท้ายจะทำให้เกิดการลงทุนในที่สุด” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมายอมรับแม้จะมีนักลงทุนยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) แล้ว แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ราคาแบตเตอรี่แพง ทำให้ราคาจำหน่ายรถแพงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันค่อนข้างมาก
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ