ธอส. เตรียมหารือ รมว.คลัง คนใหม่ ขอลดดอกเบี้ยบ้านครึ่งหนึ่ง เลือกผ่อนยาวได้สูงสุด 70 ปี ช่วยลูกค้ากระตุ้นเศรษฐกิจสู้โควิด-19
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง คนใหม่ พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่กู้เงินกับ ธอส. รวม 2 มาตรการ หลังจากที่ นายอาคม เข้ารับหน้าที่ รมว.คลัง แล้ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้า ในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา จากผลกระทบแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมีเป้าหมายในการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เติมเงินเข้ากระเป๋า ตามแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
โดยมาตรการที่ 1 คือ การขอเสนอกระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยกึ่งหนึ่งหรือครึ่งหนึ่ง ให้กับลูกค้าของธนาคาร ซึ่งจะรวมทั้งผู้กู้รายใหม่ และลูกค้าเดิม โดยขอให้คลังชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่หายไป เช่น ปัจจุบันผู้กู้รายใหม่ จะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.99% อาจจะเสนอให้ เช่น คลังช่วยชดเชย 1.50% ซึ่งยังมีช่องทางทำได้ ขณะที่ลูกค้าเดิมก็ต้องพิจารณาเกณฑ์ว่าจะช่วยกลุ่มไหน ในหลักการถ้าเป็นดอกเบี้ยลอยตัวแล้ว ถ้าเป็นเงื่อนไขเดียวกันก็จะขอลดดอกเบี้ยลง 1.50% เช่นกัน
“จะรอหารือกับ รมว.คลัง คนใหม่ ว่าต้องการให้ธนาคารช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง จากที่ผ่านมาธนาคารออกมาตรการดูแลลูกค้า ทั้งการพักหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยออกไป กว่า 4.5 แสนล้านบาทจากสินเชื่อคงค้าง 1.3 ล้านล้านบาท หากต้องการให้ ธอส.ลดดอกเบี้ย ช่วยกลุ่มลูกค้าที่ดี ลำพังตอนนี้คงทำเองไม่ได้ เพราะงบดุลค่อนข้างเปราะบาง จากช่วงที่ผ่านมา ความสามารถ (Performance) ธนาคารจะเอาไม่อยู่”
มาตรการที่ 2 เสนอ รมว.คลังรับทราบรายละเอียด หลักเกณฑ์การออกสินเชื่อ Two-GEN หรือผลิตภัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้เลือกผ่อนชำระได้ 2 generation หรือยาวนานสูงสุดถึง 70 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยกู้ได้ภายในเดือน พ.ย. 2563 เป็นการกู้ร่วมกับทายาทที่ยังไม่มีรายได้เพื่อลดผ่อนชำระเหลือเดือนละ 2,000 บาท ทำให้คนไทยมีบ้านเป็นของตัวเองได้เร็วขึ้น
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2564 ธอส. ตั้งเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 215,641 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 222,110 ล้านบาท ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นปีละ 3% มีสินเชื่อคงค้างในปี 2564 ที่ 1.374 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป็น 1.444 ล้านล้านบาท ในปี 2565
ขณะที่ผลประกอบการปี 2563 ที่สิ้นเดือน ส.ค. 2563 เทียบกับสิ้นปี 2562 มีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,273,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.30% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 51,559 ล้านบาท คิดเป็น 4.05% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 2,044 ล้านบาท โดยในปีนี้ ธนาคารจะกันสำรองเพิ่มขึ้น 5,300 ล้านบาท จากปัจจุบันกันสำรองแล้ว 3,500 ล้านบาท
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ