ห้ามขรก.-ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ กดไลค์-แชร์โพสต์หาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน สำนักงานกกต. กล่าวชี้แจงถึงการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้สมัคร มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อกกต.ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่ตนสมัครรับเลือกตั้งแล้วแต่กรณี มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีสิทธิยื่นคัดค้านการเลือกตั้งอาจยื่นคัดค้านได้ตั้งแต่วันที่ประกาศให้มี การเลือกตั้งจนถึง30วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง
ร.ต.อ.มนูญ กล่าวต่อว่า ส่วนการคัดค้านเกี่ยวกับการนับคะแนนให้คัดค้านระหว่างเวลาที่ยังนับคะแนนไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีคัดค้านการรวมคะแนน ให้คัดค้านก่อนประกาศผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ไม่ใช่ประกาศผลเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครพบว่ามีคะแนนสูสีกัน แล้วจึงมาร้องคัดค้าน โดยที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งนี้เมื่อ กกต.ได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งแล้ว ก็จะดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริง และพิจารณาดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่า กรณีข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กดไลค์ กดแชร์โพสต์หาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง จะถือเป็นกรณีตามมาตรา 34 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 หรือไม่ ร.ต.อ.มนูญกล่าวว่า การแชร์ถือเป็นการหาเสียงให้ผู้สมัครอยู่แล้ว ซึ่งการกดไลค์กดแชร์ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุให้ถูกร้องได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงที่จะกระทำ ส่วนผู้ที่จะชี้ว่าผิดหรือถูกคือ กกต.
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ