อว. เดินหน้า “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” จ้างนศ.เก็บข้อมูลชุมชน





กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หวังยกระดับ ให้ชุมชนหลุดพ้นความยากจน ลดปัญหาว่างงาน จ้างนักศึกษา-ประชาชนในพื้นที่ 60,000 คน ทำงานกับ 3,000 ตำบล ตั้งเป้าระยะต่อไป ให้ครบทั่วประเทศ 7,900 ตำบล คาดจ้างงานมากถึง 150,000 คน

วันนี้ (6 พ.ย.2563) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ถือเป็นมิติใหม่ ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลดปัญหาความยากจนระดับตำบล โดยมีมหาวิทยาลัย 80 กว่าแห่ง และเครือข่ายในพื้นที่ เป็นหน่วยงานกลาง

ดำเนินการผ่านทางกลไก นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับการจ้างงาน ตำบลละ 20 คน เข้าไปเพิ่มทักษะ ให้ความรู้ รวมถึงจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ ส่งให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง เชื่อมต่อกับโครงการ อื่นๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อต่อยอดพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ระดับจังหวัดต่อไป

โครงนี้ช่วยลดปัญหาการว่างงาน ในระยะแรก มีการจ้างงานนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ 60,000 คน ทำงานในชุมชน 3,000 ตำบล ระยะต่อไปจะดำเนินการให้ครบ 7,900 ตำบลทั่วประเทศ คาดว่า จะเกิดการจ้างงานมากถึง 150,000 คน

ขณะที่ นายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงอว. กล่าวถึงรูปแบบการจ้างงานตามโครงการนี้ว่า ทางมหาวิทยาลัยจะคัดเลือก 20 คนต่อตำบล ตามเงื่อนไขที่ อว.กำหนด แบ่งเป็น นักศึกษา 5 คน, บันทิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี 10 คน และประชาชนในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียง อีก 5 คน

ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะ 4 เรื่องคือ เรื่องดิจิทัล ,เรื่องการวางแผนการเงินของคน ,เรื่องการพัฒนาทักษะของชุมชน และเรื่องภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเข้าไปพัฒนาชุมชน เพื่อให้เกิดการยกระดับชุมชนในภาพรวมที่แท้จริง

ในส่วนของมหาวิทยาลัย ที่เป็นกลไกสำคัญของโครงการดังกล่าว นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมจิตสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ทางมอ.กำลังเตรียมตัวเข้าในการร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 ของทางกระทรวงอุดมการศึกษาฯ

โครงการนี้จะต่อยอดการทำงานในพื้นที่กับชุมชนที่ มอ.ทำมาต่อเนื่อง และจากการที่ มอ.มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ ทั้ง 5 วิทยาเขต ตั้งแต่ภูเก็ต ตรัง ปัตตานี สุราษฎร์ธานี มาถึงหาดใหญ่ ทำให้ขณะนี้ที่ร่วมจัดทำกับชุมชนกว่า 160 โครงการ

ทั้งนี้พบว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการเรื่องแรกคือต้องการพัฒนาทักษะเรื่องของการพัฒนาผู้ประกอบการ เรื่องที่สองคือต้องการพัฒนาทักษะด้านภาษา ต่อมาคือการพัฒนาทักษะเรื่องของการจัดการการบริหารข้อมูลการทำงานชุมชน

โดยทางมหาวิทยาลัยฯ จะทำงานต่อเนื่อง ตามความต้องการของชุมชนที่นำเสนอ ทั้งการบริการวิชาการ การวิจัย และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปต่อยอด

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา มอ.มีโครงการบันทิตอาสากู้ภัยโควิด ลงพื้นที่ช่วยชุมชน พัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องผู้สูงอายุ เยาวชน สิ่งแวดล้อม คลีนิกชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน ได้รับเสียงสะท้อนตอบรับอย่างดี ชุมชนต้องการคนเข้าไปช่วยทำข้อมูล รวบรวมข้อมูลมานำเสนอความต้องการของชุมชนไปสู่มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ” นายนฤทธิ์กล่าว

ข่าวจาก ThaiPBS

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: