ด่วน! “ธนาคารกรุงไทย” แจ้งตลาดฯ “บอร์ด-ผู้บริหาร-พนักงาน” ทั้งหมดพ้นสถานะ “รัฐวิสาหกิจ” ผลจากความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (9 พ.ย. 63) ธนากรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ส่งหนังสือลงวันที่ 6 พฤศจิกายนชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เรื่อง แจ้งความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อสถานภาพของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีเนื้อหาดังนี้
ธนาคารกรุงไทยขอแจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ธนาคารได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งแจ้งให้ธนาคารทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบข้อหารือของกองทุนฯ ที่ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารกรุงไทย
โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทย ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็น รัฐวิสาหกิจ ตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
การเปลี่ยนสถานภาพของธนาคารตามความเห็นข้างต้นอาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ หากได้ความชัดเจนแล้ว ธนาคารจะได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม ธนาคาร ได้ศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารจะได้ข้อยุติว่า โดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 สำหรับผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่นๆ ธนาคารจะเรียนแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปเช่นกัน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
นายผยง ศรีวณิช
กรรมการผู้จัดการใหญ่
เลขานุการบริษัท
เปิดคำวินิจฉัย “ธนาคารกรุงไทย” พ้น รัฐวิสาหกิจ
การวินิจฉัยล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อเดือนตุลาคม 2563 เกิดหลังจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขอให้วินิฉัยว่า กองทุนฯ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ รวมทั้งสถานภาพของ ธนาคารกรุงไทย เนื่องจากคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” มีการนิยามในกฎหมายหลายฉบับและมีความแตกต่างกัน
ก่อนหน้านี้ สำนักงานกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยแล้วในปี 2543 ว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่ต่อมามีการปรับปรุง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 และมีการใช้ พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ 2561 และมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทนิยม “รัฐวิสาหกิจ”
ตามมาตรา 4 จาก “องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ” เป็น “องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐ ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ”
กองทุนฯ จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้
- กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทย ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถือหุ้นมากกว่า 50% มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
- กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 หรือไม่ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่ากรรมการกองทุน ไม่ถือเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
- หากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หรือธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่ ตามที่กระทรวงการคลังร้องขอและกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นสรุปได้ดังนี้
- กองทุนฯ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามคำนิยาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 กำหนดให้ ธปท. เป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น เนื่องจากกองทุนฯ เป็นหน่วยงานใน ธปท.
- นอกจากนี้ กองทุนฯ ไม่ได้เป็น “หน่วยงานรัฐ” ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เนื่องจากไม่ได้รับเงินงบประมาณ หรือ รายจ่ายอุดหนุนจากงบประมาณ เนื่องจากได้รับเงินจากอำนาจหน้าที่ของกองทุนฯ เองและได้รับการจัดสรรจาก ธปท.
- ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกองทุนฯ ถือหุ้น 55.07%
- สำหรับประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น กฤษฎีกาไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะเห็นว่าต้องปฏิบัติตามประกาศของ ป.ป.ช. อยู่แล้ว
- ประเด็นเรื่องการมองฉันทะ หรือ มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังได้หรือไม่นั้น สามารถดำเนินการได้ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.มหาชนจำกัด 2535 และการกำกับดูแลนั้นต้องทำผ่านกลไกคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ