เปิดรายชื่อ 135หมู่บ้าน-ชุมชน เป็นพื้นที่เสพพืชกระท่อม โดยไม่เป็นความผิด





ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. พิจารณาเห็นชอบให้พื้นที่นำร่อง เปิดรายชื่อ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นท้องที่ที่ให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด

วันที่ 15 พ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะกรรมการและเลขานุการฯ เข้าร่วมประชุม

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญคือ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้รายงานถึง ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อมซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก

โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่มีหลักการสำคัญคือการถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่ระหว่างเสนอบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ที่มีหลักการสำคัญคือการกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อมเพื่อป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อม และป้องกันไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังรายงานความคืบหน้าร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเสพและการครอบครองพืชกระท่อม ในท้องที่ที่ประกาศให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด พ.ศ. …ซึ่งกำหนดให้เสพได้ตามวิถีชาวบ้าน และผู้เสพจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ป.ป.ส. ก่อน โดยร่างฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในหลักการต่อไป

นอกจากนี้ ได้มีวาระพิจารณาที่สำคัญคือ พิจารณาเห็นชอบให้พื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นท้องที่ที่ให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 58/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 หลังจากที่สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการเตรียมการรองรับเป็นที่พื้นที่นำร่องครบทุกขั้นตอนแล้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อวาระพิจารณาดังกล่าว และมอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนลงนามในประกาศต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในการลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับข้อเสนอ 6 ข้อขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการควบคุมกัญชาและสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และทางการวิจัย มากยิ่งขึ้น ได้แก่

1.)ถอดกัญชาและยางกัญชาออกจากตารางที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 แต่ไปควบคุมอยู่ในตารางที่1 ของอนุสัญญา ฯดังกล่าวแทน 2.)เพิ่มสารสังเคราะห์กัญชาโดรนาบิบอล (Dronabinol) และสเตอริโอไอโซเมอร์ (Stereoisomers) ทั้งหมดของโดรนาบินอลให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 และถอดออกจากตารางที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971

3.)เพิ่มสารสกัดกัญชา THC หรือสารที่เป็นไอโซเมอร์กับโดรนาบินอล (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Delta-9-THC) ให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 และถอดออกจากตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1971 4.)ถอดคำว่า “สารสกัดและทิงเจอร์ของกัญชา” (Extracts and Tinctures of Cannabis) ออกจากตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

5.)เพิ่มคำอธิบายในเชิงอรรถภายใต้ตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 ว่าวัตถุตำรับหรือยาเตรียม (Preparation) ที่มี Cannabidiol (CBD) เป็นส่วนประกอบหลักหรือเรียกรวมว่า CBD Preparation ซึ่งมีความเข้มข้นของ Delta-9-THC ไม่เกิน 0.2% จะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

6.)เพิ่มตำรับยากัญชาและโดรนาบินอล (Pharmaceutical preparations of Cannabis and Dronabinol) ให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 3 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961

โดยประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง ต่อข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมสมัยต่อเนื่องของคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 63 ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค. 63 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและประเทศสมาชิกต่างๆ ตีความข้อเสนอของ WHO แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงาน อย. และกระทรวงการต่างประเทศ ต่อการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว โดยสำนักงาน อย. เสนอว่าประเทศไทยควรลงคะแนนรับข้อเสนอ 4 ข้อด้วยกัน คือ ข้อ 1, 2, 3 และ 5 และไม่รับข้อเสนอในข้อ 4 และ 6 เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบาย และกฎหมายภายในของประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอการลงคะแนนดังกล่าว และมอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศของไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เป็นผู้แทนทางการไทยในการลงคะเเนน ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน ประกอบด้วย 10 จังหวัด 10 อำเภอ 19 ตำบล 1 เทศบาล 110 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ภาคกลางประกอบด้วย บ้านคลองหนึ่ง ม.10 จ.นนทบุรี ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และ ม.12 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ภาคใต้ ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน ใน ต.คลองเส อ.ถ้ำพรรณราย จ.นครศรีธรรมราช, 9 หมู่บ้านใน ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ , 7 หมู่บ้านใน ต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา, 65 หมู่บ้านใน 10 ตำบล อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี, 5 หมู่บ้านใน ต.ละอุ่นเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง, บ้านดอนไทรงาม ต.บางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร, 4 หมู่บ้านใน ต.เตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง, 9 หมู่บ้านใน จ.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: