“ทรัมป์” สั่งประหารชีวิตนักโทษเพิ่มเติม ก่อนพ้นตำแหน่ง





โดนัลด์ ทรัมป์ แม้ในช่วงโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ยังมีข่าวคราวการใช้อำนาจประธานาธิบดีของเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอำนาจบางอย่างถือว่าเป็นการผิดไปจากกรอบปฏิบัติหรือธรรมเนียมทางการเมืองที่ทำกันมา เช่น การสั่งปลดคนออกอย่างฟ้าผ่า การอภัยโทษคนสนิท หรือการสั่งประหารชีวิต ที่ประธานาธิบดีคนก่อนๆ มักเว้นไว้ให้ประธานาธิบดีคนถัดไปตัดสินใจ หากเขากำลังจะพ้นจากตำแหน่ง แต่ใน 5 สัปดาห์สุดท้ายนี้ ทรัมป์ใช้อำนาจสั่งประหารชีวิตนักโทษเพิ่ม 5 ราย ทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีที่สั่งประหารชีวิตนักโทษมากที่สุดใน 5 สัปดาห์ที่เหลือก่อนพ้นจากตำแหน่ง โดนัลด์ ทรัมป์เตรียมใช้อำนาจสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหา 5 ราย

รายแรกคือ 1. แบรนดอน เบอร์นาร์ด วัย 40 ปี ที่ถูกจับกุมในข้อหาลักพาตัวและฆาตกรรมเยาวชน 2 รายเมื่อตอนเขาอายุ 18 ปี โดยเขาจะถูกประหารชีวิตในวันนี้ เบอร์นาร์ดจะกลายเป็นนักโทษที่มีอายุน้อยที่สุดที่ถูกประหารชีวิต หากนับจากวันที่เขาก่ออาชญากรรม

2. คือ อัลเฟรด เบอร์กอยส์ คนขับรถบรรทุกชาวผิวสี ที่ฆาตกรรมลูกสาวของตัวเอง โดยเขาจะเป็นผู้ต้องหารายที่สองที่ถูกประหารชีวิตในวันพรุ่งนี้

ขณะที่ 3 รายที่เหลือ หนึ่งในนั้นมีลิซ่า มอนต์โกเมรี่ หญิงชาวอเมริกันที่ลงมือสังหารหญิงตั้งครรภ์ด้วยการบีบคอภายในบ้านข้องเธอ ก่อนจะนำร่างของเด็กทารกออกมาจากครรภ์ของผู้เสียชีวิตซึ่งลิซ่าจะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกสั่งประหารชีวิตในรอบ 70 ปี

หากท้ายที่สุดผู้ต้องหา 5 รายนี้ถูกประหารชีวิต ทรัมป์จะกลายเป็นประธานาธิบดีที่สั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาในจำนวนที่มากที่สุดในรอบมากกว่า 100 ปี หากรวม 5 คนนี้ ทรัมป์สั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาไปแล้ว 13 รายภายในปีนี้เพียงปีเดียว

วิลเลียม บาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ระบุว่า การสั่งประหารชีวิตของทรัมป์นั้นเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นการใช้อำนาจในช่วงโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่เหมาะสม เพราะตามมารยาททางการเมืองแล้ว ทรัมป์ควรให้ผู้ชนะการเลือกตั้ง หรือไบเดน มาเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการประหารชีวิตผู้ต้องหาเหล่านี้

โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีที่ใช้อำนาจสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหามากที่สุดในรอบมากกว่า 100 ปี สวนกระแสความคิดของสังคมที่มีต่อเรื่องประหารชีวิต ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ คนที่มีอำนาจสั่งประหารชีวิตคือรัฐบาลส่วนกลางหรือประธาธิบดี และศาลของแต่ละรัฐซึ่งตั้งแต่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ สั่งนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ในปี 1988 โทษประหารชีวิตถูกใช้น้อยมาก

ตั้งแต่ปี 1988 จนถึงก่อนหน้าทรัมป์เข้ามารับตำแหน่ง โทษประหารชีวิตถูกใช้ไป 3 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช

หนึ่งในผู้ต้องหาคือทิโมธี แมค เวกห์ ที่ลงมือก่อเหตุระเบิดอาคารราชการในเมืองโอกลาโฮม่า ซึ่งหลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา ไม่มีการสั่งโทษประหารชีวิตอีกเลย

สอดคล้องกับความเห็นของชาวอเมริกัน ที่โพลสำรวจของ Gallup ในปี 2019 ชี้ว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 60 สนับสนุนการจำคุกตลอดชีวิตมากกว่าการประหารชีวิต

โทษประหารชีวิตมีหลายประเด็นที่เป็นข้อที่ถกเถียง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา หรือการใช้งบประมาณไปกับการต่อสู้ฟ้องร้องในศาล

นอกจากนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนยังออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาโทษประหารชีวิตในช่วงหลังๆ เกี่ยวข้องกับสีผิวและเชื้อชาติของนักโทษด้วย โดย 4 ใน 5 ของกลุ่มนักโทษที่ถูกสั่งประหารชีวิตล่าสุด เป็นคนผิวสี ทั้งยังมองว่าโทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่ล้าหลัง

ซึ่ง ณ ตอนนี้ ไบเดนถือเป็นนักการเมืองที่มีความคิดต่อเรื่องโทษประหารชีวิตตรงกันข้ามกับทรัมป์

ขณะที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่มีจุดยืนสนับสนุนโทษประหารชีวิตไบเดนและทีมงานต่อต้านความคิดนี้

กมลา แฮร์ริส นักกฎหมายและอดีตสมาชิกวุฒิสภาเป็นคนที่ต่อต้านโทษประหารชีวิตมาโดยตลอด

แต่โจ ไบเดน มีจุดยืนต่อเรื่องนี้ที่เปลี่ยนไป ในปี 1994 ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เขาได้สนับสนุนโทษประหารชีวิต และได้พิจารณาให้ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมกว่า 60 คดี ว่าควรได้รับโทษประหารชีวิต แต่ตอนนี้เขาประกาศว่า เขาต้องการยกเลิกอำนาจสั่งประหารชีวิตของประธานาธิบดี และต้องการให้ศาลของรัฐต่างๆ ทำแบบเดียวกัน

จนถึงทุกวันนี้ โทษประหารชีวิตถือเป็นประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเทศ ที่เกี่ยวพันไปถึงเรื่องของอำนาจรัฐ สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงวิธีการป้องปรามอาชญากรรมที่ได้ผลมากที่สุด

ข่าวจาก PPTVHD36

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: