เปิดค่าเสื้อผ้า–เบี้ยเลี้ยงต่างประเทศ ต้นเหตุ “ทัวร์ลง” กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน





เปิดค่าเสื้อผ้า – เบี้ยเลี้ยงต่างประเทศ ต้นเหตุ “ทัวร์ลง” กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในยุค “อิทธิพร บุญประคอง” เป็นประธาน อันมีต้นกำเนิดจากรัฐธรรมนูญ 2560

อัพเกรดจากองค์กรอรหันต์ 5 เสือ มาเป็น 7 เสือ กกต. ที่มีบทบาทต่อการเมืองไทยในเกมเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 อย่างมโหฬาร

เพราะผลการตัดสิน กกต.ชุดนี้ นำไปสู่การเปลี่ยนเกมทางการเมืองครั้งสำคัญหลายช็อต ทั้งการชงยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จากอุบัติเหตุเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชี ทั้งการชงยุบพรรคอนาคตใหม่ จากปมเงินกู้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ชงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ “ธนาธร” ปมหุ้นสื่อ

ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า คดีเหล่านี้เปลี่ยนเกมการเมืองในกระดาน ดังนั้น ไม่แปลกที่ ทุกฝีก้าวของ กกต.ชุดปัจจุบัน ไม่ว่าขยับไปทางไหนจะเจอแรงเสียดทาน

กับกรณีล่าสุด “ทัวร์ลง” กกต. ที่ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ของประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2563 ซึ่งยกเลิกระเบียบเก่าที่ออกตอนปี 2542 ที่ชื่อว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ของประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ 2542

ย้อนกลับไปดูระเบียบเก่าตอนปี 2542 พบว่า กำหนด “เบี้ยเลี้ยง” การเดินทางของ กกต. ดังนี้

 
  1. เบี้ยเลี้ยงเดินทางในต่างประเทศ อัตราเหมาจ่ายวันละ 800 บาท
  2. เบี้ยเลี้ยงเดินทางในต่างประเทศ อัตราเหมาจ่ายวันละ 130 ดอลลาร์สหรัฐ
  3. ค่าเช่าที่พักให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง
  4. ค่าที่พักให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง
  5. ค่าพาหนะให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในกรณีใช้ยานพาหนะส่วนตัว ในการเดินทางให้เบิกเงินชดเชยค่าน้ำมันเชื้อเพิลงได้ในอัตรากิโลเมตรละ 2 บาท
  6. ค่ารับรองและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเนื่องในการเดินทางให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง

ขณะที่ระเบียบใหม่ ปี 2563 ที่ออกมาล่าสุด

  1. ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในประเทศ (เหมาจ่าย) 800 บาท/วัน
  2. ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในต่างประเทศ (เหมาจ่าย) 130 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน
  3. ค่าเช่าที่พักในประเทศและต่างประเทศ เท่าที่จ่ายจริง
  4. ค่าพาหนะในประเทศ หรือต่างประเทศ เท่าที่จ่ายจริง
  5. ค่าเครื่องบินในประเทศ หรือต่างประเทศ เท่าที่จ่ายจริง
  6. ค่าชดเชยการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลในการเดินทาง 5 บาท/กิโลเมตร
  7. ค่าประกันชีวิตและสุขภาพในระหว่างเดินทาง ไปต่างประเทศ เท่าที่จ่ายจริง
  8. ค่าเครื่องแต่งตัวในการเดินทางไปต่างประเทศ 9,000 บาท/ครั้ง
  9. ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องจ่ายเนื่องในการเดินทาง ไปปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เท่าที่จ่ายจริง

ซึ่งที่เพิ่มมา 2 ข้อ คือ ข้อ 7 และ ข้อ 8 คือ ค่าประกันชีวิตและสุขภาพ และ “เครื่องแต่งตัว” 9 พันบาท
ขณะเงินเดือน 7 เสือ กกต.ก็ไม่ใช่น้อย เงินเดือนที่ได้รับอยู่ตอนนี้ เป็นไปตามมาตรา 6 ของระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561

ให้ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ได้รับเงินเดือนในตำแหน่งประธานกรรมการการเลือกตั้ง 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่งอีก 50,000 บาท ขณะที่ กรรมการการเลือกตั้ง ได้เงิน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่งอีก 50,000 บาท

เช่นเดียวกับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” องค์กรอิสระเพื่อนบ้าน ที่สำนักงานอยู่ฝั่งตรงข้ามกันในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะอาคาร B

ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกระเบียบขึ้นมา ลงนามโดย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชื่อว่า ระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 29 มกราคม 2563

ทั้งนี้ ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในประเทศ วันละ 800 บาท ต่างประเทศ 3,100 บาท หรือเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามหลักฐานการจ่ายเงินไม่เกินวันละ 4,500 บาท

ส่วนค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าประกันภัยเดินทาง ค่ารับรอง ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องจ่ายได้ในการเดินทาง ให้เบิกจ่ายได้ตามจริงและเหมาะสม

กรณีไปต่างประเทศให้เบิกค่าเครื่องแต่งตัวได้ เหมาจ่ายครั้งละ 9,000 บาท โดยต้องมีระยะห่างจากการเบิกครั้งก่อน 2 ปี

ทว่าระเบียบดังกล่าวถูกวิจารณ์ “ทัวร์ลง” เช่นกัน เมื่อระบุให้เบี้ยเลี้ยงการเดินทางแก่คู่สมรสของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย วันละไม่เกิน 4,500 บาท และค่าเครื่องแต่งตัวเหมาจ่ายอีกครั้งละ 9,000 บาท หากได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากผู้ตรวจการแผ่นดิน จนถูกสังคมวิจารณ์หนัก

เมื่อ “ทัวร์ลง” ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไหวตัวออกระเบียบใหม่เพื่อยกเลิกเบี้ยเลี้ยงของ “คู่สมรส” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2563

เพียงแต่ปมเครื่องแต่งกายของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ถูกนำมาเป็นประเด็น ต่างกับ กกต.ที่อยู่ในตำบลกระสุนตก

ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: