โลกโซเชียลแห่แชร์ภาพ กรุงเทพโฉมใหม่ จากระบบสายไฟฟ้าอากาศเปลี่ยนเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน การไฟฟ้านครหลวง ดำเนินการแล้วเสร็จ ระยะทางรวม 48.6 กม.
วันนี้ (13 ธ.ค.63) โลกโซเชียลแห่แชร์ภาพความสำเร็จโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพ โดยภาพชุดที่ถูกแชร์ต่อๆ กัน เป็นภาพจากการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ซึ่งได้ดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และช่วยปรับทัศนียภาพให้สวยงาม ปลอดภัย ในพื้นที่สำคัญ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
โดยในปัจจุบัน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ระยะทางรวม 48.6 กิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่บางส่วนของถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์และสว่างอารมณ์ ถนนพิษณุโลก และถนนนครสวรรค์
ทั้งนี้ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ได้ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกเส้นทางที่มีความจำเป็น โดยคัดเลือกตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า สาธารณูปโภคสำคัญ แนวถนนสายหลัก และบริเวณย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าหนาแน่น และมีการเติบโตของความต้องการไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว โดยโครงการ ฯ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ระยะทางรวม 167 กิโลเมตร ประกอบด้วย
1. โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะทางรวม 128.2 กิโลเมตร ได้แก่ นนทรี ถนนพระราม 3 รัชดาภิเษก-พระราม 9 รัชดาภิเษก-อโศก รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถนนพระราม 4 ถนนวิทยุ พื้นที่เมืองชั้นใน (ถนนสาทร ถนนเจริญราษฎร์ ถนนชิดลม ถนนเพชรบุรี ถนนดินแดง) ถนนอังรีดูนังต์ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียวอ่อน สายสีชมพู และสายสีเหลือง
2. โครงการที่อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ระยะทางรวม 38.8 กิโลเมตร ได้แก่ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีเขียวส่วนต่อขยาย และสายสีม่วง โครงการร่วมกรุงเทพมหานคร (ถนนอรุณอัมรินทร์-ถนนบรมราชชนนี-ถนนพรานนก-ถนนทหาร-ถนนประชาราษฎร์สาย 1 และถนนสามเสน) ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างภายในปี 2563
สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินนั้น MEA ได้ดำเนินโครงการครั้งแรกบนถนนสีลม ตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งนับว่าเป็นถนนสายแรกของประเทศไทย และได้ดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมระยะทาง 215.6 กิโลเมตร ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากมติ ครม. ในการลงทุนรวมกว่า 69,232.6 ล้านบาท
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ