บอร์ด สปส. เคาะจ่ายชดเชย 50%ปิดสมุทรสาคร





บอร์ดประกันสังคม เคาะจ่ายชดเชย 50% ปิดสมุทรสาคร

รายงานข่าวจากสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ดประกันสังคม ได้มีมติว่า การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยรัฐบาลได้ประกาศให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินกิจการในพื้นที่ทั้งหมดนั้น

ตามกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 นั้น ให้จ่ายชดเชยการว่างงานที่ 50% ของฐานเงินเดือนที่ 15,000 บาท และมีระยะอยู่ที่ 90 วันใน 1 ปี ในขณะที่การระบาดโควิด-19 ครั้งก่อนหน้านี้จ่ายชดเชยอยู่ที่ 62% กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะนำเสนอที่ประชุคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค. 2563) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

นอกจากนี้ในที่ประชุมบอร์ดประกันสังคม ยังได้สรุปผลการบริหารกองทุนประกันสังคมล่าสุด (30 พ.ย. 2563) มีเงินทุนสะสมอยู่ที่ 2,180,697 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินสมทบนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล นำไปลงทุนสุทธิ 1,465,901 ล้านบาท ผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 714,796 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินสมทบนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลนำไปลงทุน 24,836 ล้านบาท และโอนเงินลงทุนไปจ่ายสิทธิประโยชน์ 200 ล้านบาท

ทั้งนี้เงินลงทุนสะสมตาม ม.105 จำนวนรวม 2,180,697 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 กรณี อยู่ที่ 1,934,826 ล้านบาท สำหรับ 4 กรณีอยู่ที่ 75,434 ล้านบาท กรณีว่างงาน 155,210 ล้านบาท และมาตรา 40 รวม 15,227 ล้านบาท สำหรับการลงทุนของกองทุนประกันสังคม แบ่งเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยง ใช้เงินลงทุน 488,053 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22.38% และลงทุนในหลักทรัพย์มั่นคงสูง 1,692,644 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77.62% เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีกระแสเงินสดเพื่อจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า อัตราการจ่ายชดเชยให้กับผู้ประกันตนในกรณีว่างงานตามกฎกระทรวงนั้นอยู่ที่ 50% และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ครั้้งนี้มีความแตกต่างเมื่อเทียบกับครั้งที่ผ่านมา ตรงที่การระบาดเกิดขึ้นเฉพาะจุดและยังไม่ได้ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยบอร์ดประกันสังคมได้อนุมัติเรียบร้อยและขั้นตอนต่อไปคือ นำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้สำหรับกระทรวงแรงงาน จะส่งทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่พร้อมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อสำรวจความเดือดร้อนของนายจ้าง รวมถึงลูกจ้าง เพื่อกำหนดแนวทางในการดูแลแรงงานในพื้นที่อีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับภารกิจของกระทรวงแรงงาน ในกรณีแรงงานต่างด้าวคือ การตรวจสอบใบอนุญาตทำงานว่ามีการขออนุญาติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้น และหากเป็นแรงงานเถื่อนเมื่อตรวจสอบพบก็แจ้งเจ้าหน้าตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: