แรงงานเมียนมาครวญเดือดร้อนมาก! ใช้ชีวิตลำบาก วอนคนไทยเห็นใจ ด้าน สธ. เปิดใจ ไม่ฟันธงเอาอยู่ รับโควิด-19 รอบนี้หนักกว่ารอบก่อน
รายการโหนกระแสวันที่ 24 ธันวาคม “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ยังเกาะติดเรื่องโควิด-19 ล่าสุดรัฐบาลแบ่งโซนเป็นพื้นที่ควบคุม การล็อกดาวน์จะเป็นแบบไหนบ้าง โดยเปิดใจสัมภาษณ์ “ดร.สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
วันนี้เข้าประชุมเป็นอย่างไรบ้าง?
ดร.สาธิต : “ศบค. มีการแลกเปลี่ยนกันและเป็นการจัดการบริหาร เข้าใจว่าคนทั้งประเทศกำลังติดตาม อยากได้คำตอบว่าล็อกดาวน์มั้ย จะล็อกดาวน์แบบไหน จำกัดพื้นที่ และมีหลายความเห็น มุมนึงก็อยากได้ยาแรง ถ้าล็อกเลยหยุดการเคลื่อนไหว และสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ใน 14 วันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และไปเริ่มต้นกันใหม่ บางคนก็เห็นพ้องต้องกัน แต่บางคนบอกไม่ได้ อีกกลุ่มใหญ่ๆ บอกว่าการล็อกแบบตายตัว ปิดกิจการ ปิดกั้นการเดินทางจากจังหวัดสู่จังหวัด จะทำให้กระทบวิถีชีวิต กระทบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวขึ้นมา เขาเลยคิดว่าถ้ามีวิธีการจัดการโรคระบาดได้โดยวิธีการล็อกเป็นพื้นที่หรือล็อกตามสถานการณ์พื้นที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด ให้กระทบกับเศรษฐกิจน้อยที่สุด”
ตอนแรกทางรัฐบาลจะแบ่งโซน สีเขียวสีแดง แต่เห็นว่าเปลี่ยนเป็นพื้นที่แทน?
ดร.สาธิต : “เพื่อให้จังหวัดเขาได้รู้ อย่างเช่นสมุทรสาคร เขาเป็นไข่แดงมีการระบาดเป็นจำนวนมาก ต้องเป็นพื้นที่ควบคุมและเคร่งครัด ปิดการเดินทางของแรงงานต่างด้าว ไม่ให้คนเข้าออก รวมทั้งคนไทยเข้าออก ต้องมีการแจ้งว่าคุณมาจากที่ไหน และจะไปที่ไหนอย่างไร เวลาเกิดปัญหาจะได้ค้นหาติดตามได้ ตามหลักการสอบสวนโรค”
ทั้งหมด 4 พื้นที่ควบคุม พื้นที่ควบคุมสูงสุดคือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและมีมากกว่าหนึ่งพื้นที่ย่อย สองพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่สีแดง มีผู้ติดเชื้อเกิน 10 ราย มีแนวโน้มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นพื้นที่ควบคุม ต่อไปพื้นที่เฝ้าระวังสูง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย มีแนวโน้มควบคุมสถานการณ์ได้ สุดท้ายพื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อและยังไม่มีสิ่งบอกเหตุมีผู้ติดเชื้อ ตอนนี้ถือว่ากระจายตัวไปเยอะหรือยัง อย่างกรุงเทพฯ โผล่มาทีเดียว 20 แล้ว?
ดร.สาธิต : “นับถึงวันนี้ 27 จังหวัด และอาจเพิ่มเติมในวันนี้ด้วย สถานการณ์ที่คนตื่นตระหนก สิ่งที่เราต้องการคือความเชื่อมั่น ถ้าเราไม่ได้รับความเชื่อมั่นและร่วมมือ ต่อให้รัฐบาลหรือสาธารณสุขเก่งแค่ไหนก็ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ ฉะนั้นความเชื่อมั่้นต้องมาก่อน ประชาชนติดตามข้อมูลจากศบค. หรือสาธารณสุข จะได้ชัดเจนและไทม์ไลน์การสอบสวนโรค เพื่อให้พวกเราติดตามแบบตื่นตัว แต่ไม่ถึงกับตื่นตระหนก”
ถ้าเราจะมองว่าตัวเลขอาจลดลง แต่มองในความเป็นจริง คิดว่าเอาอยู่มั้ย เพราะตัวเลขสูงกว่าในครั้งแรกที่เกิดขึ้น?
ดร.สาธิต : “คงฟันธงไม่ได้ว่าเอาอยู่หรือไม่ แต่พูดฟันธงว่าครั้งนี้หนักกว่าครั้งที่แล้ว ตอนเราพบหญิงสมุทรสาคร เอาอนุมานได้ว่าเขาติดมาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในช่องทางธรรมชาติ แรงงานสมุทรสาครมีจำนวนมาก ก่อนที่จะพบเขา เราไม่แน่ใจว่าก่อนหน้านี้มีการติดต่อไปเท่าไหร่แล้ว กระจายไปตรงไหนบ้าง พอเราพบเขา ก็ตรวจคนใกล้ชิด พบผู้ติดเชื้อในวงใกล้ชิดมากขึ้น แค่นี้ไม่พอ ต้องไปตรวจเชิงรุก เราก็ไปตรวจกับแรงงานต่างด้าวที่นั่น ซึ่งมีอยู่ 3-4 แสนคน เราไปตรวจแล้วพบผู้ติดเชื้อ 500 กว่าคนและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่วันที่มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ใช้มาตรการซีลตรงนั้น วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ลดลง แต่ขณะเดียวกัน ไม่ได้บอกว่าจะเอาอยู่ เพราะเราทำตามข้อเท็จจริงและประสบการณ์ที่เราทำมา วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อแรงงานต่างด้าวลดลง แต่เราไม่ทราบหรอกว่าวงที่เราค้นพบ ที่ไปโผล่ใน 27 จังหวัด ที่มีความสัมพันธ์กับตลาดกลางกุ้ง ถ้าเราตรวจสอบ เรามีความมั่นใจ แต่เมื่อไหร่ก็ตามถ้าเราตรวจพบผู้ติดเชื้อที่ได้มีสัมพันธ์กับตลาดกลางกุ้ง อันนี้น่าห่วงมาก”
พูดง่ายๆ เรายังตามได้ คนที่เจอเชื่อมโยงตลาดกลางกุ้งเราต้อนมาได้?
ดร.สาธิต : “ใช่ มันเลยเป็นที่มา พอเราพบที่นั่นที่นี่ วิธีการก็ขีดวงไม่ให้ไปที่ไหน ไม่มีใครผิดใครถูก ผู้เสนอก็บอกว่าล็อกไปเลยเพื่อให้อยู่ 14 วันจัดการให้เรียบร้อย แต่ขณะเดียวกัน การกระจายตัวไปเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ทางวิชาการกระทบเศรษฐกิจที่น้อยกว่าทำได้ ไม่ต้องถึงกับปิดทั้งหมด ไม่มีอะไรผิดถูก อยู่ที่เราจะเลือกวิธีไหน”
ตอนนี้ผู้ประกอบการที่เป็นโรงงาน รับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย วันดีคืนดีกลัวความผิด เอาแรงงานไปที่อื่น กังวลเรื่องแบบนี้มั้ย?
ดร.สาธิต : “เป็นเรื่องต้องแก้ไขปัญหา เพราะเป็นเรื่องความหวาดวิตก ว่าจะมีความผิดมั้ย ตอนเชียงรายเป็นการไปทำงานสีเทา เวลาสอบสวนโรคก็ไม่ยอมบอกความจริง กรณีนี้ก็กลัวถูกดำเนินคดีตามกฎหมายก็เลยเอาไปปล่อยตัว ผมเรียนว่าการทำผิดเรื่องขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาต้องจัดการแต่ไม่ใช่ตอนนี้ ตอนนี้ต้องหยุดโรคก่อนแล้วค่อยไปจัดการพวกนี้่ทีหลัง จัดการให้เข้าระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ต้องแก้ว่าสิ่งที่จะทำให้ทุกคนเดินเข้ามาในระบบสอบสวนโรคต้องทำวิธีอะไร เพื่อให้เขามาบอกความจริง ใครติดต้องบอกว่าไปไหนมาบ้าง”
เป็นไปได้มั้ยออกใบชั่วคราวให้เขาอยู่ เพื่อคุมเอาไว้?
ดร.สาธิต : “วันนี้กระทรวงแรงงานจะไปประชุมกันหลังจากนี้ว่าจะหาวิธีอะไรจัดการกับเรื่องนี้ให้เข้ามาสู่ระบบในการสอบสวนโรคให้ได้”
เขากลัวเรื่องแรงงานผิดกฎหมายแตกฮือ?
ดร.สาธิต : “แต่ต้องไปดูในเชิงกฎหมายเหมือนกัน ว่าการนิรโทษกรรมแบบนั้นทำได้มั้ย เพราะกฎหมายเดิมถ้าหลบหนีเข้าเมืองต้องส่งศาลและส่งกลับด้วยซ้ำไป แต่นี่ก็ส่งกลับไม่ได้อยู่ดี ต้องหาวิธีเข้ามาสู่การสอบสวนโรคให้มากที่สุด วันนี้กระทรวงแรงงานต้องไปคิดว่าพื้นที่เสี่ยง ต้องตรวจเชิงรุกให้มากที่สุดในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวเข้าไปสัมพันธ์ด้วย และการตรวจก็ต้องใช้งบประมาณ นายกฯ สั่งการแล้วว่าต้องตรวจให้มากที่สุดในกลุ่มพวกนี้ เดี๋ยวศุกร์นี้ตอนเย็นผมจะไปตรวจตลาดไทเชิงรุก เพราะที่นั่นมีแรงงานต่างด้าวทำงานด้วย และคนมาตลาดไทมาจากหลายจังหวัด ไปซื้อผักที่นี่เอาไปขาย ต้องไปตรวจเชิงรุกว่ามีใครเป็นหรือไม่เป็น จะได้สกัดกั้นได้ทัน ทุกมาตรการต้องส่งเสริมมาเพื่อให้จัดการความเชื่อมั่น และสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อให้ได้”
กรณีแรงงานต่างด้าว มีการประกันตน หรือประกันสุขภาพ อันนี้ที่เขาป่วยอยู่ สาธารณสุขเข้าไปดูแล?
ดร.สาธิต : “ถ้าเขามีสิทธิ์ประกันสังคม เราดูแล แต่เขากำลังจะเพิ่มว่าการตรวจพวกนี้ คนที่มีประกันสังคมจะได้รับการตรวจฟรีด้วย”
เข้ามาผิดกฎหมายล่ะ?
ดร.สาธิต : “อันนี้อยู่นอกระบบ จริงๆ ส่วนนี้ กรมควบคุมโรคมีหน้าที่ สมมติเขานิยามว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องได้รับการตรวจ การตรวจก็เป็นอีกช่องทางที่ต้องไปของบจากรัฐบาล งบกลางมาสำหรับจ่ายเงินสำหรับตรวจคนกลุ่มนี้ จะได้ไม่เป็นปัญหาอุปสรรค เวลาไปตรวจเชิงรุกแล้วจะเป็นห่วงเรื่องงบประมาณจะได้ไม่ต้องเป็นห่วง ไปตรวจให้หมดแล้วไปเบิกกับงบกลางนายกฯ”
สาธารณสุขเองมีความคิดอยากจำกัดวงแคบผู้ค้าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาผิดกฎหมายยังไงบ้าง?
ดร.สาธิต : “อยากให้มองว่าสถานการณ์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิดเป็นอันดับสำคัญสุดและไปกำหนดเป็นมาตรการ เรื่องการดำเนินการอื่นใดเรื่องเศรษฐกิจก็ต้องทำคู่กันไป ส่วนเรื่องการไปดำเนินการผู้ที่ทำให้เกิดการระบาดครั้งที่สองเป็นใคร ก็ต้องเอาไว้ก่อน ผมมั่นใจว่าถ้าท่านนายกฯ เอาจริง การสอบสวนย้อนหลัง การจ่ายผลประโยชน์กัน มันมีที่มา สามารถสอบสวนได้หลังสถานการณ์ที่เราคุมโรคระบาดได้ ผมมั่นใจว่าถ้าเราดำเนินการถูกต้องก็จะทำให้แรงงานที่เดินทางมาทำงานบ้านเรา อยู่ในระบบ และภายใต้สถานการณ์สามารถตามย้อนหลังได้ แต่ถ้าอยู่นอกระบบเมื่อไหร่ มันคือความยาก ที่เราจะไปติดตามตรวจสอบย้อนหลัง”
ตอนนี้กรุงเทพฯ มีคนติดโควิด แล้วไม่ทราบว่าติด ไปเดินเล่นแถวลาดพร้าว สยาม มีการไปตรวจสอบยังไงสำหรับห้าง?
ดร.สาธิต : “แน่นอนถ้ามีผู้ติดเชื้่อเดินทางไป เขามีการตรวจสอบไทม์ไลน์ว่าเป็นยังไงบ้างถ้าเป็นพื้นที่เสี่ยงก็ปิดทำความสะอาดและปิดชั่วคราว คนที่ไม่มั่นใจก็ไปตรวจเพื่อดูว่าตัวเองเป็นผู้ติดเชื่อหรือไม่ การดำเนินการในเขตพื้่นที่เขาสามารถสอบสวนโรค และตรวจเชิงรุกผู้มีความเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำเพื่อให้ได้ผลออกมา”
โฟนอินตัวแทนกลุ่มแรงงานต่างด้าว “คุณเอ” เป็นชาวอะไร?
เอ : “พม่าครับ มาอยู่เมืองไทยนานแล้ว”
ตอนนี้อยู่ไหน?
เอ : “อยู่ตลาดกุ้ง ไปรับของที่เขามาแจก ในชุมชุนเข้ามาบริจาค”
ความเป็นอยู่เป็นยังไง?
เอ : “พูดตรงๆ ทุกคนไม่สบายใจ ตอนนี้ทุกคนมองว่าพม่าเอาเชื้อเข้ามา จริงๆ คนอยู่ข้างในไม่มีเชื้อหรอก แต่คนลักลอบเข้ามาเอาเชื้อมาพวกเราก็ไม่รู้ ตอนนี้พม่าไปไหนก็ไม่ได้แล้วตอนนี้ ขึ้นรถเมล์ รถไฟก็ไม่ได้ เดือดร้อนมาก”
ตอนนี้คนไทยกลัวแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาผิดกฎหมาย บางคนกลัวแล้วแตกหนีออกไป คุณเอสามารถเป็นตัวแทนไปเจรจาว่าไม่ต้องไปไหนได้มั้ย เดี๋ยวสาธารณสุขจะเข้าไปตรวจให้ เขาจะมีการทบทวนเรื่องใบอนุญาตชั่วคราวให้จะได้ไม่มีความผิดกัน แต่ยังไม่ต้องไปไหน พอจะมีทางมั้ย?
เอ : “ผมบอกไปแล้ว คนมีบัตรไม่มีบัตรไม่ต้องไปไหน รัฐบาลไทยบอกไม่จับแล้ว ให้อยู่เฉยๆ รพ.อะไรก็แล้วแต่เขาก็มาตรวจ คนที่ล็อกได้ผมล็อกไว้หมดแล้ว”
ชาวบ้านแถววัดตึก เขารวมตัวค้ดค้านแรงงานเมียนมาไม่อยากให้ไปพักที่รพ.สนาม?
เอ : “ครับผม ใครๆ ก็ไม่อยากไป”
แรงงานเดือดร้อนมั้ย อาหารมีมั้ย?
เอ : “ตอนนี้ลำบากมาก ตอนนี้โรงงานไม่ให้เข้าไปทำงาน เขาให้หยุดไม่ให้ทำงาน เรามีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ สิ้นเดือนก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว แรงงานก็ลำบาก ฝากด้วย อยากให้คนไทยเข้าใจเราหน่อย พม่าคนดีก็มี คนไม่ดีก็มี เป็นพี่เป็นน้องกัน ขอฝากหน่อยนะ”
ดร.สาธิต : “ขอชี้แจงหน่อย กระบวนการที่ทำรพ.สนามเป็นการคัดแยกผู้ติดเชื้อ ซึ่งไม่มีอาการ ต้องแยกออกมาเพื่อไม่ให้ไปติดคนอื่นต่อ วันนี้เราไปทำรพ.สนามสองจุด จุดแรกตลาดกลางกุ้ง 100 เตียง เราจะไปทำที่วิทยาลัยพละอีก 500 เตียง เป้าหมายคือแยกผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่มีอาการอะไร ไม่ต้องให้น้ำเกลือ ไม่ต้องทำอะไร ให้มาพักที่นี่เพื่อจัดการได้โดยง่าย ไม่ให้คนติดเชื้อปะปนกับแรงงานพม่าคนอื่นและเกิดแพร่ระบาดในแรงงานพม่า เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดไดร่วมกันดำเนินการ ถ้าใครตรวจเชื้อพบเราก็แยกมาตรงนี้ ส่วนเรื่องประชาชนที่ไม่ยอมรับ รัฐบาลจะพยายามทำความเข้าใจ เพื่อให้อยู่ร่วมกันและดูแลไม่ให้มีการแพร่ระบาดต่อตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ตอนนี้เขาล็อกแรงงานต่างด้าวออกจากต่างจังหวัดอยู่แล้ว”
วันก่อนล็อกแล้ว ผู้ประกอบการยังขับรถพาออกไปได้?
ดร.สาธิต : “มีเออเร่อในพื้นที่ (หัวเราะ)”
วัคซีน เราจะได้กันเมื่อไหร่?
ดร.สาธิต : “เราได้ทำสัญญากับบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า แล้ว มีการจ่ายเงินมัดจำเพื่อจะได้ผลิตและส่งมาให้เรา ทั้งหมด 26 ล้านโดส ฉีดได้ 13 ล้านคน เราจะเป็นผู้ผลิตเองด้วยซ้ำไป เขาอาจส่งหัวเชื้อมาแล้วเราผลิตในประเทศไทย คาดว่าได้กลางปีหน้า”
ทำไมไม่สั่งไฟเซอร์แบบที่สิงคโปร์ใช้?
ดร.สาธิต : “ตอนแรกเราคุยกับหลายบริษัท เราคุยกับไฟเชอร์ มาดอนน่า จีน รัสเซีย แต่เราได้คุยกับออกฟอร์ด แอสตร้าเซนเนก้าก่อน และได้ประโยชน์ในแง่เรื่องราคา การจัดส่ง และตัวผลิตกับเราด้วย แง่พูดคุยสัมพันธ์ที่ดีด้วย ซึ่งผมว่าไม่เสียหาย ราคาไม่ถึง 200 บาท ขณะที่ไฟเชอร์ 600 โดยการเปรียบเทียบเงินที่เรามี ผมคิดว่าแอสตร้าเซนเนก้าก็มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้”
พี่น้องคนไทยที่ทำงานในกรุงเทพฯ ได้กลับบ้านปีใหม่มั้ย?
ดร.สาธิต : “ขณะนี้ได้กลับ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้ามีการแพร่ระบาดมากก็ต้องคุม แต่คุมก็ไม่ได้คุมคนไทยทั้งหมด คุมแค่บางเรื่อง แต่กรุงเทพฯ ขณะนี้ก็ไม่ได้ล็อกทั้งหมด ล็อกเท่าที่จำเป็น ไม่ถึงกับเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้”
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ