ไขข้อสงสัย “ไทยชนะ VS หมอชนะ” ต่างกันอย่างไร?





ไขข้อข้องใจ แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ VS หมอชนะ” ต่างกันอย่างไร ใช้อันไหนดี ข้อมูลที่เก็บไปปลอดภัยหรือไม่ แล้วทำไมต้องโหลดทั้งคู่

หลังจากทั่วโลกกำลังเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ซึ่งล่าสุดเองไทยก็กำลังป่วยโควิดระลอกใหม่ทำยอดติดเชื้อสะสมใกล้จะ 1 หมื่นรายแล้ว โดยไทยนั้นได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้ผุดแอปฯ หมอชนะ กับ ไทยชนะ ขึ้นมา ซึ่งแต่ละแอปฯมีความต่างกันอย่างไรไปดูกันเลย

ไทยชนะ เป็นระบบลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานในพื้นที่สาธารณะของประชาชน โดยมีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลเพียงผู้เดียว เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามข้อมูลและกักโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแอปฯ ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันดี และง่ายต่อการสแกน QR Code เช็กอิน โดยมีฟังก์ชั่นซึ่งเป็นจุดเด่นต่าง ๆ ดังนี้

1. ใช้เพื่อสแกน QR Code เช็คอิน เมื่อเข้าไปใช้บริการในยังสถานที่ต่าง ๆ

2. การสแกน QR Code จะเป็นการบันทึกสถานที่ ที่เราเดินทางไป

3. ช่วยบันทึกระยะเวลาอยู่ในสถานที่

4. สามารถเช็คอินเป็นกลุ่มได้

5. กดเช็คเอาท์ได้จากแอปฯ กรณีลืมสแกนขากลับ

6. การสแกน QR Code เป็นการลดการสัมผัสจากการหยิบปากกาจดบันทึก

7. ข้อมูลประวัติการเช็กอินของเรา จะถูกลบอัตโนมัติทุก 60 วัน

แอปพลิเคชัน หมอชนะ หมอชนะเป็นแอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code เช่น ไทยชนะ เพื่อเช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรคและบุคลากรทางการแพทย์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยหมอชนะจะแจ้งไปยังกลุ่มผู้ใช้งานที่มีประวัติสัมผัสหรือเข้าใกล้กับผู้ติดเชื้อ Covid-19 ถึงวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องโดยมีฟังก์ชั่นดังนี้

1. มีแบบสอบถามช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้ใช้งานเบื้องต้น

2. ใช้เทคโนโลยี Bluetooth ในการติดต่อสื่อสารกับเครื่องอื่นที่อยู่ใกล้กัน กรณีมีผู้ติดเชื้อที่เคยอยู่ในพื้นที่ที่คุณไป แอปฯ จะสามารถเตือนคุณให้เข้าสู่กระบวนการตรวจหาเชื้อได้ เนื่องจากบางคนอาจจะมีความเสี่ยงจากการพบผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว

3. เทคโนโลยี Bluetooth พลังงานต่ำ สื่อสารเครื่องอื่นๆ ซึ่งกันและกัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ตัวตนของอีกฝ่าย

4. ตัวแอปจะบันทึกประวัติการเดินทางผ่าน GPS ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูประวัติการเดินทางในขั้นตอนการสอบสวนโรค

5. สำหรับข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ จะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ และจะมีการลบออกโดยอัตโนมัติเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด

ซึ่งแอปนี้ออกแบบให้ใช้งานง่าย ใช้ในการเฝ้าระวังและแจ้งระดับความเสี่ยงของผู้ใช้ ช่วยบันทีข้อมูลด้านสุขภาพอาการและข้อมูลการเดินทางจากการเช็คอินตามสถานที่ต่างๆ เพื่อยืนยันความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ โดยจะแสดงระดับความเสี่ยงของผู้ใช้เป็นสีดังนี้

สีเขียว หมายถึง ความเสี่ยงต่ำมาก สามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

สีเหลือง หมายถึง ความเสี่ยงต่ำ ใช้ชีวิตตามปกติ แต่ต้องระมัดระวัง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

สีส้ม หมายถึง ความเสี่ยงปานกลาง ให้กักตัวอยู่บ้านให้ครบ 14 วัน โดยเฝ้าระวังสำรวจอาการตนเอง หากมีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

สีแดง หมายถึง ความเสี่ยงสูงมาก อาจเพราะมีอาการป่วย มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจโรคทันที

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แอปพลิเคชัน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวผู้ใช้งาน และสามารถอำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ในการสกัดกั้นการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนควรจะมีไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเจ้าหน้าที่ในการป้องกันเชื้อร้ายไม่ให้แพร่กระจาย ให้ประเทศเรากลับมาปลอดภัยได้โดยเร็ว

ข่าวจาก TNN

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: